เที่ยว - เดลี อัครา เที่ยวอินเดีย ใครๆ ก็ไปได้ : ตอนที่ 1 เดลี
เรานอนฟังเสียงชายชาวสเปนคนหนึ่งคุยกับเจ้าของโฮมสเตย์ที่อัคราอย่างออกรส พรุ่งนี้เค้าต้องกลับเดลี เพื่อไปไหนต่อผมฟังไม่ถนัด คงสนุกกว่านี้ถ้าเราไม่ป่วยจนไม่มีแรงลุกจากเตียง
สาเหตุคงมาจากน้ำดื่มฟรีตามสถานที่ท่องเที่ยว ที่เรากรอกจนเต็มขวด แล้วซดไปจนเกลี้ยง สองวันต่อมาเราก็ได้เข้าพบหมอ ด้วยอาการท้องเสีย ไข้ขึ้นสูง
“ไทยแลนด์ ไทยแลนด์ แบงค็อก ฮ้า กู้ดดดด” เจ้าหน้าที่รุ่นเก๋าพูดขึ้น ยิ้มฟันขาว
แล้วก็ชี้ชวนกันมาดูคนไทย คงสงสัยว่า ไอ้พวกนี้ทำไมหน้าตายังกะคนจีน ผมที่อาการไม่หนักเท่าอาเจ๊ก็พลอยขำกับท่าทางซนๆ ของเค้าด้วย
จะว่าไป สิ่งที่เราชอบมาก เผลอๆ จะมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยว คือผู้คนที่มีชีวิตชีวา เท่าที่เจอคนที่นี่ตุกติกแบบตลกๆ คือถ้าได้ก็เอา แต่ถ้าโดนจับได้ก็ยอมคืนดีๆ หน้าตายิ้มแย้ม (เรียกว่าหน้าด้านใช่มั๊ยนิ) นี่เป็นประเทศที่เราสามารถปฏิเสธคนได้โดยไม่รู้สึกผิดเท่าไหร่ บางเวลา เรากลับรู้สึกว่าคุยกับคนอินเดียก็สบายใจดี เราไม่ต้องพะวงว่าเค้าจะคิดยังไง เค้าจะโกรธไหม เค้าจะเสียใจรึเปล่า เพราะพี่บังแกสบายดีไม่มีปัญหา
เราจะพาคุณไปชมสองเมืองยอดนิยมของประเทศที่น่าตื่นตานี้ ด้วยบทความ 3 ตอน คือ เดลี อัครา และแผนการเดินทางและสรุป และหวังว่าจะทำให้คุณกลัวมันน้อยลงซักหน่อย
ก่อนเดินทาง
การทำวีซ่า
https://pantip.com/topic/36523887
E-Tourist Visa India สะดวกสบายมากมาก ทำตามกระทู้ของคุณ 3079276 ได้เลยครับ
วันเดินทาง แต่ลืม / พิมพ์เอกสารผิด ทำยังไงดี
ใครจะเอ๋อขนาดพิมพ์วีซ่าผิด?
โผมมนี่แหละฮะ ไปถึงสนามบินอย่างมั่นใจ ยืนเอกสาร
“ไม่ใช่ใบนี้ครับ ต้องเป็นอีกใบนึง”
อ่าว ไม่ใช่ใบนี้แล้วใบไหน...
โชคดีที่พนักงานสายการบิน Jet Airways ให้ความช่วยเหลือดีมาก ไม่งั้นคงได้หอบกระเป๋ากลับบ้าน
วิธีแก้ไข
1 ก่อนอื่น ลองดูที่เอกสารที่พิมพ์ไว้ มองหา Application ID ถ้าหาไม่เจอ เปิดมือถือ เข้าอีเมลที่ใช้สมัครวีซ่า มองหาจดหมายที่ขึ้นต้นว่า noreply-vss@nic.in ในนั้นจะมี Application ID อยู่ครับ
2 ไปที่ https://indianvisaonline.gov.in/evisa/StatusEnquiry กรอก Application ID และ Passport No แล้วคลิก Check Status มันจะแสดงวีซ่าของคุณขึ้นมา
3 จับภาพหน้าจอ หรือใช้มือถืออีกเครื่องถ่ายรูปไว้ แล้วไปที่ร้านอินเตอร์เน็ต ซึ่งอยู่ทางขวา ด้านในสุด ของสนามบินสุวรรณภูมิ (หันหน้าเข้าสนามบิน)
4 ให้ร้านอินเตอร์เน็ตพิมพ์ภาพออกมา
5 เท่านี้ก็ได้เอกสารที่จำเป็น เก็บไว้ดีๆ นะครับ เพราะเราต้องใช้อีกที่อินเดีย
ตั๋วเครื่องบิน
เราไปกับ Jet Airways สายการบินราคาประหยัด ซึ่งการบริการและอาหารบนเครื่องก็โอเคครับ
จองตั๋วรถไฟ
http://easy-india-trip.blogspot.com/2016/07/know007.html
ไกด์ของคุณ TS ละเอียดดีครับ
ปล. ถ้าคุณทำตามขั้นตอนแล้วไม่ได้เมลตอบกลับมาจากการรถไฟอินเดียซะที ให้ลองเปลี่ยนเมลแล้วสมัครใหม่ ผมสมัครตั้ง 3 รอบ กว่าจะสำเร็จ
ของใช้จำเป็น
หน้ากากอนามัย ขาดไม่ได้ถ้าคุณแพ้ฝุ่น
อากาศในเดลีแย่สุดๆ ฝุ่นเยอะ โดยรวมอากาศที่อัคราดีกว่ามาก แต่บางช่วง เช่น ทางไปสุสานพระเจ้าอักบาร์มหาราช ก็จัดว่าแย่สุดๆ ไปกี่วันพกไปเท่านั้นเลยครับ
การเดินทางระหว่างเมือง
รถไฟ
การเดินทางยอดฮิตแห่งแดนภารตะ สนุกสนานและสะดวกสบาย
ขึ้นรถไฟยังไง โจรรถไฟจะมาไม้ไหน ผมเขียนไว้ที่นี่ครับ https://bearducktravel.blogspot.com/2017/10/blog-post.html
รถบัส
เราไม่ได้ใช้รถบัส
แต่จากการคุยกับคนขับตุ๊กๆ นี่ก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ
(ใครมีประสบการณ์เล่าให้ฟังที)
เดลี
ทันทีที่ผมก้าวออกจากสถานีรถไฟใต้ดินอันเงียบสงบ เดลีก็ต้อนรับผมด้วยคนยืนฉี่ริมกำแพงกลางวันแสกๆ วัวนอนขวางถนน จนรถติดยาวเหยียด ซึ่งมาพร้อมเสียงแตรแสบแก้วหู กลิ่นเหม็นตลบอบอวน และตุ๊กๆ ขาซิ่ง ที่พร้อมปาดหน้ารถคันอื่นได้ตลอดเวลา
แต่อันที่จริง นั่นเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของเมืองอันวุ่นวายนี้ เดลียังมีสถานที่ท่องเที่ยวมรดกโลก สวยสวนร่มรื่น อากาศบริสุทธิ์ การคมนาคมทันสมัย อาหารริมทางน่าลอง และผู้คนที่มีชีวิตชีวา รอคอยคุณอยู่
จะบอกว่าดีคงไม่ได้ แต่ไม่แย่อย่างที่คิดครับ
การเดินทางในเดลี
ตุ๊กๆ
มีทุกหนทุกแห่ง ทั้งหมดคิดราคานักท่องเที่ยว และหลังจากเราขึ้นไปบนรถแล้ว บางรายชอบตื้อไปร้านของฝากอีกตะหาก
แต่ทุกอย่างต่อรองได้ และคุณถ้ายืนยันหนักแน่นว่าจะไม่ไปร้านของฝาก เค้าก็ไม่พาไป หรือถ้ารำคาญ ลองเสนอเพิ่มเงินให้นิดหน่อย เพื่อให้เลิกตื้อก็ได้
ข้อควรระวังก่อนขึ้นตุ๊กๆ
- ตกลงราคาให้ชัดเจน ว่าเป็นราคาต่อคน หรือราคาต่อเที่ยว
- ตกลงสกุลเงินให้ชัดเจน รูปีนะนายจ๋า ไม่ใช่ดอลล่า
ตุ๊กๆ พรีเพด ณ สถานีรถไฟ
ผมกับอาเจ๊แบกเป้ใบโต โดนเตะเด้งไปมาเหมือนลูกบอล ระหว่างบูธขายตั๋วและโชเฟอร์ตุ๊กๆ
สาเหตุคือลุงขายตั๋วดันเขียนที่อยู่โรงแรมผิด ตุ๊กๆ เลยไม่ไป บอกให้แก้ก่อน เราเอาไปแก้ ลุงขายตั๋วก็ไม่แก้ บอกให้ไปหาตุ๊กๆ สุดท้ายเราเลยต้องจ่ายราคานักท่องเที่ยว พอรวมกับตั๋วที่ซื้อมาตะกี้ กลายเป็นแพงกว่าปกติไปซะงั้น
หรือตุ๊กๆ แถวนั้นร่วมมือกันไม่รับตั๋วพรีเพดก็ไม่แน่ใจ
รถไฟฟ้า
ไหล่ชิดไหล่ ลมหายใจอุ่นๆ รดต้นคอ รักแร้ของหนุ่มคนหนึ่งอยู่ทางซ้าย แขนขวาผมแนบอยู่กับพุงนิ่มๆ ของใครอีกคน เมื่อประตูเปิดออก ผมโดนพัดพาไป เหมือนน้ำออกจากท่อ
ถ้าเป็นไปได้ หลีกเลี่ยงรถไฟฟ้าอินเดียในชั่วโมงเร่งด่วน
แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ข้อดีคือไม่ใช่ทุกสายที่อัดแน่น และคุณจะได้รู้ว่า ความจริงคนอินเดียไม่เหม็นอย่างที่คิด
เดลีมีเครือข่ายรถไฟฟ้าที่ครอบคลุม ทำให้เป็นการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด ศึกษาเส้นทางไม่ยาก แค่รู้สี และสถานีปลายทาง ก็อาศัยแผนที่ตามสถานีคลำทางไปได้ครับ
ลองเปิดตัวเลือก Transit ใน Google Map ซึ่งทำให้เห็นว่าแต่ละสายวิ่งไปไหนบ้าง จะช่วยให้วางแผนง่ายขึ้น (แต่บางสถานี ชื่อใน Google Map ก็ผิดนะ) หรือดูแผนที่ได้ที่นี่ http://bit.ly/2yIxjkb
ซื้อตั๋วยังไงดี?
ผมซื้อบัตร Travel Card จากเคาน์เตอร์ของ Delhi Metro Rail Corporation (DMRC) ซึ่งเจอระหว่างเดินไปขึ้น Airport Line ที่สนามบิน หรือซื้อจากเคาน์เตอร์ตามสถานีทั่วไปก็ได้ครับ
ค่าใช้จ่ายของ Travel Card
- ค่ามัดจำบัตร 50 รูปี จะได้คืน เมื่อคืนบัตร
- ค่าเติมเงินในบัตรครั้งแรก พนักงานเติมให้ 300 รูปี
- การเติมเงินหลังจากครั้งแรก มีขั้นต่ำคือ 200 รูปี ถ้าจะเติมมากกว่านั้น ต้องเพิ่มทีละ 100 รูปี เช่น 300, 400, 500 จนกระทั่งสูงสุด 2000 รูปี
ที่ขำคือ ขนาดมีใบเสร็จ พนักงงานหนุ่มแว่นที่ขายบัตรให้เรา ก็ยังอุตส่าห์อมเงินทอน เมื่อผมเดินกลับไปหา เจ้านี่ก็ลอยหน้าลอยตา ยิ้มแฉ่ง แล้วบอกว่า “นี่ คุณลืมเงินไว้หละ เอาไปสิ”
สถานที่ท่องเที่ยว
Gurudwara Bangla Sahib
พิกัด 28.6263526 77.209079
เวลาเปิด 24 ชั่วโมง
ค่าเข้าชม ฟรี
อื่นๆ ต้องฝากรองเท้า ล้างเท้า และใช้ผ้าโพกหัวก่อนเข้า ไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้คนที่นี่ใจดีมากครับ
วัดหินอ่อนสีขาว มีโดมสีทองโดดเด่น และสระน้ำศักดิสิทธิ์กว้างใหญ่ สร้างขึ้นในบริเวณที่คุรุหริกริษัน (Guru Har Krishan) ศาสดาองค์ที่ 8 ของชาวซิกซ์ใช้เป็นที่พำนัก ก่อนจะเสียชีวิตในวัยเพียง 7 ปีเท่านั้น
เช่นเดียวกับวัดซิกซ์อื่นๆ ที่นี่มีพระเพณีลังคระ (Langar) คือเลี้ยงอาหารแก่ทุกคนโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา
ผมมาที่นี่ตอนเย็น มองเงาสะท้อนของวัดในสระน้ำ พระจันทร์ดวงกลมโตบนท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม และเสียงสวดของชาวซิกข์ ทำให้รู้สึกสงบอย่างประหลาด
การเดินทาง
ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ไปสถานี Patel Chowk จากนั้นเดิน หรือนั่งตุ๊กๆ ไปอีก 1 กิโลเมตร
Humayun's Tomb
พิกัด 28.5932818 77.2507488
เวลาเปิด พระอาทิตย์ขึ้น - พระอาทิตย์ตก
ค่าเข้าชม 500 รูปี สำหรับคนไทย แสดงหนังสือเดินทาง เพื่อลดราคาเหลือ 30 รูปี
สวนสุสานของพระจักรพรรดิหุมายุน สร้างขึ้นด้วยหินทรายสีแดง โดยพระจักรพรรดิอักบัร พระโอรส เป็นแห่งแรกในชมพูทวีป เมือปีค.ศ. 1570 จากการร่วมมือกันของช่างฝีมือชาวเปอร์เซียและอินเดีย ทำให้นี่เป็นสุสานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกอิสลามในเวลานั้น
สถาปัตยกรรมของมันเป็นรากฐานของศิลปะแบบโมกุล (Mughal) ซึ่งพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันใช้เป็นต้นแบบในการสร้าง ทัชมาฮาล (Taj Mahal) ในเวลาต่อมา
นอกจากสุสานสีแดงขนาดใหญ่และสวนกว้าง คูน้ำซึ่งพบได้ทั่วไปในสถาปัตยกรรมโมกุล ของที่นี่มีน้ำไหลอยู่จริง ไม่แห้งเหือดเหมือนทุกแห่งที่ผ่านมา ประทับใจมากครับ
การเดินทาง
ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไปสถานี้ JLN Stadium จากนั้นเดิน หรือนั่งตุ๊กๆ ไปอีก 1.4 กิโลเมตร
India Gate
พิกัด 28.612912 77.2295097
เวลาเปิด 24 ชั่วโมง
ค่าเข้าชม ฟรี
ถึงจะชื่อว่า India Gate แต่อันที่จริงเจ้าประตูสูง 42 เมตร ที่สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1921 แห่งนี้ คืออนุสรณ์สถานแก่ทหารกว่า 70000 นาย ที่สละชีพในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยบนประตู มีชื่อสลักอยู่ถึง 13516 รายชื่อ
ใต้ซุ้มประตู มีอีกหนึ่งอนุสรณ์เล็กๆ สร้างหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช ด้วยหินอ่อนสีดำ ปืน L1A1 และหมวกทหาร ล้อมด้วยคบเพลิงที่ถูกจุดให้ลุกไหม้ตลอดเวลา เพื่ออุทิศให้แก่ทหารไร้ชื่อ ที่เสียชีวิตในสงครามอินเดีย-ปากีสถาน ในปีค.ศ. 1947
ผมมาถึงนี่ช้าเกิดไป ท้องฟ้ามืดแล้ว มองเข้าไปตรงประตูมีผู้คนหนาแน่นมาก เลยตัดสินใจหันหลังกลับ เพราะไม่มีแรงจะลุยแล้วจ้า
การเดินทาง
ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วง หรือสีเหลือง ไปสถานี Central Secretariat จากนั้นเดิน หรือนั่งตุ๊กๆ ไป 1.7 กิโลเมตร สถานีนี้อยู่ใกล้ทำเนียบประธานาธิบดี (Rashtrapati Bhawan) เดินไปทำเนียบก่อน แล้วค่อยไป India Gate ก็ไม่เลวครับ
Rajpath
พิกัด 28.6140669 77.2063887
เวลาเปิด 24 ชั่วโมง
ค่าเข้าชม ฟรี
ถนนขนาดใหญ่สร้างโดยอังกฤษ ยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร ปลายด้านหนึ่งคือ India Gate อีกด้านคือทำเนียบประธานาธิบดี (Rashtrapati Bhawan) รัฐสภาและสถานที่ราชการอื่นๆ
มันถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของอังกฤษ ซึ่งปกครองอินเดียในสมัยนั้น แต่อีกเพียงแค่ 16 ปี ให้หลัง อินเดียก็ได้รับเอกราช และนักการเมืองก็เข้ามาใช้สถานที่นี้แทน
การเดินทาง
ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วง หรือสีเหลือง ไปสถานี Central Secretariat จากนั้นเดินประมาณ 100 เมตร
เวลาเปิด 9.00 - 16.00 เปิดให้เข้าเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์
ค่าเข้าชม 25 รูปี
อื่นๆ ก่อนเข้าต้องแสดงหนังสือเดินทางฉบับจริง
ที่พักอย่างเป็นทางการของประธานาธิปดี ตั้งอยู่สุดปลายด้านทิศตะวันตกของ Rajpath ภายในประกอบไปด้วยอาคารขนาด 340 ห้อง สวนแบบโมกุลกว้างใหญ่ สวนสมุนไพร ที่พักเจ้าหน้าที่ และคอกม้า ทำให้ในแง่ของขนาดพื้นที่ นี่คือที่พักของผู้นำประเทศ ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เปิดให้เข้าชมสามวัน คือ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เท่านั้น แถมแต่ละวันจะเปิดให้เข้าชมคนละส่วนกันอีกต่างหาก ใครสนใจสามารถซื้อบัตรและดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่จ้า http://presidentofindia.nic.in/visit-to-rashtrapati-bhavan.htm
แสงเย็นที่นี่สวยใช้ได้ ผมอยากเดินเข้าไปหามุมใกล้ๆ แต่พี่ทหารตรงโน้นกำลังไล่คนออกจากบริเวณ เป็นอันหมดหวัง
การเดินทาง
ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วง หรือสีเหลือง ไปสถานี Central Secretariat จากนั้นเดินประมาณ 400 เมตร
เวลาเปิด 7.00 - 12.00 13.30 - 18.30
ค่าเข้าชม
- ฟรี แต่...
- ต้องเสีย 300 รูปี ต่อกล้อง 1 ตัว ถึงแม้ว่าจะเป็นกล้องโทรศัพท์ที่อยู่ในกระเป๋าของคุณก็ตาม
- ต้องเสีย 100 รูปี ถ้าต้องการปีนหอคอย
- ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้า และต้องจ่ายเงินให้คนเฝ้ารองเท้าด้วย
- ตรงประตู จะมีคนมานำให้คุณถ่ายรูปตามมุมต่างๆ และขอเงินเป็นค่าไกด์ ผมรีบปฏิเสธและให้เงินไป 20 รูปี
อื่นๆ
- ผู้หญิงที่มาคนเดียวอาจขึ้นหอคอยไม่ได้
- ผู้หญิงจะต้องใส่ชุดคลุมทั้งตัว และมีผ้าคลุมหัว ห้ามใส่กางเกงยีนส์ ถ้าคุณไม่มี ใช้ของมัสยิดก็ได้ครับ
- ควรใส่ถุงเท้าไปด้วย เพราะพื้นร้อนนะครับ
- มีพิธีละหมาดช่วง 12.00 - 13.30 ซึ่งเวลานี้เราอาจไม่สามารถเข้าไปข้างในได้
- เก็บตั๋วเอาไว้จนกว่าจะออกจากมัสยิด เพราะในนั้นมีคนคอยเดินตรวจอีกรอบ
Jama Masjid หรือ Friday Mosque ผลงานชิ้นสุดท้ายของพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1644 ว่ากันว่านี่คือมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ลานของมันจุคนได้ถึง 25000 คน หอคอยสูง 40 เมตร ซึ่งแต่เดิมใช้ระวังภัย สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล
ผมเห็นโดมสีขาวของมันโดดเด่นอยู่เหนือถนนที่วุ่นวายของเมืองเก่า ฝุ่นควันในอากาศทำให้มันดูคล้ายล่องลอยอยู่อีกโลกหนึ่ง และบางที นี่อาจเป็นจุดที่มีเสน่ห์ที่สุดของมัน
เราไม่แน่ใจ ว่าการเรียกเก็บค่ากล้องที่แสนหยาบคายของที่นี่ แย่สมคำร่ำลือรึเปล่า เพราะอาเจ๊ชิงจ่าย 600 รูปี ทั้งที่เรามีกล้องตัวแค่เดียว และไม่มีโทรศัพท์มือถือ จ่ายเกินราคาแบบนี้ ไม่มีปัญหา
การเดินทาง
- ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ไปสถานี Chawri Bazar จากนั้นเดินประมาณ 500 เมตร
- หรือขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไปสถานี Jama Masjid จากนั้นเดินประมาณ 200 เมตร
เวลาเปิด พระอาทิตย์ขึ้น - พระอาทิตย์ตก
ค่าเข้าชม
- 500 รูปี สำหรับคนไทย แสดงหนังสือเดินทาง เพื่อลดราคาเหลือ 30 รูปี
- 25 รูปี สำหรับค่ากล้องถ่ายภาพนิ่ง
- 25 รูปี สำหรับกล้องวีดีโอ
กุตุบมีนาร์ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกโดยพระเจ้ากุตุบอุดดินไอบาค กษัตริย์มุสลิมคนแรกของเดลี เมื่อปีค.ศ. 1192 แต่ไม่แล้วเสร็จ ต่อมากษัตริย์ชัมส์อุดดิน อิลทุตมิช ทรงสร้างเพิ่มเติมได้อีกสามชั้น และสุดท้าย กษัตริย์ฟิโรซ ชาห์ แห่งราชวงศ์ตุกลัข ทรงต่อเติมชั้นที่สี่และห้า กว่าจะเป็นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน รวมแล้วใช้เวลาสร้างถึง 170 ปี
ยังไม่แน่ชัดว่าเจ้าหอสูง 73 เมตร สร้างจากหินทรายแดง โดยรอบแกะสลักด้วยถ้อยคำจากพระคัมภีร์กุรอาน และลวดลายแบบอิสลาม แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่ออะไรกันแน่ บางข้อมูลบอกว่าเป็นอนุศรแห่งชัยชนะที่อณาจักรมุสลิมมีเหนืออณาจักรฮินดู บ้างก็เชื่อว่ามันถูกสร้างขึ้นเป็นหออะซาน
ก่อนมา ผมจินตนาการว่าที่นี่จะต้องเป็นซากปรักหักพังแห้งๆ มีหอสูง เนินทราย ฝุ่นตลบตาม แต่ความจริงมันอยู่ในสวน รายรอบด้วยซากโบราญสถานน้อยๆ ที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีครับ
การเดินทาง
ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ไปสถานี Saket หรือ Qutub Minar จากนั้นนั่งตุ๊กๆ ไปอีก 2 กิโลเมตร
เวลาเปิด 9.30 - 16.30 อังคาร - อาทิตย์
ค่าเข้าชม
- 500 รูปี สำหรับคนไทย แสดงหนังสือเดินทาง เพื่อลดราคาเหลือ 35 รูปี
- 25 รูปี สำหรับกล้องวีดีโอ
มันได้ชื่อจากกำแพงหินทรายแดงแดงขนาดยักษ์ สูงราว 18 เมตร ยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร สร้างขึ้นเป็นพระราชวัง และป้อมปราการสำหรับพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ในปีค.ศ. 1638 บางข้อมูลเล่าว่า มีการฝังร่างที่ไร้หัวของนักโทษลงไปในฐานของมันด้วย เพราะเชื่อว่าจะทำให้โชคดี
แต่ที่สุดแล้ว พระองค์ไม่ได้ประทับที่นี่ เพราะโดนพระจักรพรรดิออรังเซพ พระโอรส จับไปขังที่ Agra Fort ซะก่อน
ถือได้ว่านี่คือหนึ่งในสุดยอดของสถาปัตยกรรมโมกุล (Mughal) ซึ่งผสมผสานศิลปะหลายแบบเข้าด้วยกัน เริ่มจากแผนผังตามรูปแบบมาตรฐานของสถาปัตยกรรมอิสลาม แต่ตัวอาคารเกิดจากการผสมผสานศิลปะ เปอร์เซีย ตีมูร์ และ ฮินดู เข้าด้วยกัน การวางผังและการออกแบบสวนของมัน มีอิทธิพลถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างในยุคต่อมา
เมื่อเดินเข้าไปใกล้ ผมกับอาเจ๊ถึงกับปากค้าง ตกตะลึงในความใหญ่โตของมัน แต่เมื่อผ่านกำแพงชั้นนอกเข้าไป ความตื่นเต้นก็ตกลงจนต่ำเตี้ย ลานกว้าง สิ่งก่อสร้างขนาดย่อม กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เชื่อมโยงกันด้วยคูน้ำซึ่งแห้งเหือด แดดแผดเผา ก่อนกลับผมแวะพิพิธภัณฑ์อาวุธ ซึ่งก็ไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่
การเดินทาง
- ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ไปสถานี Chandni Chowk จากนั้นเดินประมาณ 1 กิโลเมตร
- หรือขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไปสถานี Lal Quila จากนั้นเดินประมาณ 400 เมตร
เวลาเปิด 7.00 - 12.00 และ 14.00 - 21.00
ค่าเข้า
- ฟรี แต่...
- พี่ตำรวจหนวดงาม ไถเงินค่าฝากของ
อื่นๆ ห้ามนำมือถือและกล้องถ่ายรูปเข้าในอาคาร ต้องฝากไว้ที่ล็อคเกอร์ของทางวัด
วัดฮินดูขนาดใหญ่แห่งแรกในกรุงเดลี สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1933 โดย Raja Baldev Birla ซึ่งเป็นนักธุรกิจคนสำคัญของอินเดีย และมหาตมะคานธี เป็นผู้ทำพิธีเปิด เพื่อสื่อถือว่าที่นี่ต้อนรับคนทุกวรรณะ
อาคารใหญ่ตรงกลางมีไว้เพื่อบูชาลักษมีนารายัน (Laxminarayan) คือพระพระวิษณุ (หรือพระนารายณ์) และพระแม่ลักษมีคู่กัน โดยรอบมีอาคารเล็กๆ สำหรับบูชาพระศิวะ พระกฤษณะ (ปางหนึ่งของพระวิษนุ) และพระพุทธเจ้า
ผมไปถึงที่นี่ราว 19.00 น. ทันเห็นพิธีบูชาเทพเจ้า โดยนักบวชสั่นกระดิ่งเสียงดังกังวาน เมื่อจบพิธี ชาวฮินดูจะเข้าไปขอรับน้ำมนต์และเจิม ด้วยท่าทางมีความสุข ภายในวัดสะอาดสะอ้าน ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยรูปเทพเจ้า ผมถ่ายรูปกลับมาไม่ได้เลย นอกจากประตู...
การเดินทาง
ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ไปสถานี Patel Chowk จากนั้นนั่งตุ๊กๆ ไปอีก 2 กิโลเมตร
Swaminarayan Akshardham
พิกัด 28.6126735 77.2772619
เวลาเปิด 9.30 - 18.30 อังคาร - อาทิตย์
ค่าเข้า
- พื้นที่ส่วนใหญ่ เปิดให้เข้าชมฟรี
- 170 รูปี สำหรับการชมนิทัศการ
- 50 รูปี สำหรับบริจาค
- 80 รูปี สำหรับชมการแสดงน้ำพุตอนเย็น
อื่นๆ
- ต้องฝากของทุกสิ่ง รวมทั้งกล้องและโทรศัพท์มือถือ นำเงินและกระเป๋าสตางค์ติดตัวไปได้เท่านั้น
- การฝากของ ต้องแสดงสิ่งของให้เจ้าหน้าที่ดูด้วย
- ไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายของทรัพย์สิน
Swaminarayan Akshardham หมู่อาคารบนพื้นที่กว้างใหญ่ สร้างขึ้นในปี 2005 ให้เป็นศาสนสถานของชาวฮินดู แต่ก็ต้อนรับทุกคนอย่างเป็นมิตร
ภายในประกอบไปด้วยหลายส่วน เริ่มตั้งแต่ “Swagatam” ทางเข้า สัญลักษณ์ของการต้อนรับด้วยไมตรี “Mandir” วิหารหลัก สร้างจากหินทรายสีชมพู “Abhishek Mandap” ศาลาเล็กๆ ใช้ประกอบพิธีที่เหมือนการสรงน้ำพระมากๆ “Exhibitions” แสดงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของชาวอินเดีย “Thematic Gardens” สวนสวยสองสวน และสุดท้าย “Water Show” แสงสีเสียงซึ่งจะเริ่มเล่นหลังพระอาทิตย์ตก
หลังจากยืนชั่งใจอยู่นาน ผมตัดสินใจไม่เข้าไปข้างใน เพราะห่วงกล้องและเลนส์มากกว่า
การเดินทาง
ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ไปสถานี Akshardham จากนั้นเดิน หรือนั่งสามล้อไป 700 เมตร
อาหาร
พิกัด 28.6422673 77.2103376
เวลาเปิด 8.00 - 18.00
ราคา ประมาณ 60 - 100 รูปี ต่อคน
ร้านเล็กๆ แบบยืนกินที่ขายเมนูเดียวมากว่า 50 ปี นั่นคือ Channa Bhatura (บางคนเรียก Chole Bhature) ซึ่งประกอบไปด้วยแกงถั่ว คู่กับแป้งกลมๆ ชื่อว่า Bhatura กินได้เพลินๆ ไม่ฉุนอย่างที่คิด ปิดท้ายด้วย Lassi แก้วละ 40 รูปี ที่หอมหวาน เย็นชื่นใจ
การสั่งแสนง่าย เดินไปที่เคาน์เตอร์ จ่ายเงิน แล้วเข้าแถวรอแกง เมื่อได้แล้วก็เอาไปรอ Bhatura ดูพ่อครัวโชว์ลีลาซักนิดก็ได้แป้งกลมครบชุด จากนั้นก็เตรียมมือเปื้อนได้เลย ทางร้านมีอ่างล้างมือให้ ดังนั้นเต็มที่ฮะ
การเดินทาง
ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ไปสถานี Ramakrishana Asharm Marg จากนั้นเดิน 500 เมตร
พิกัด 28.64224 77.210549
เวลาเปิด 9.00 - 23.00
ราคา ประมาณ 150 - 200 รูปี ต่อคน
ร้านขายนานแบบอมฤตสาร์ มีเมนูหลากหลายและเท่าที่ลองก็อร่อยทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข้าวผัด แกงแบบต่างๆ หรือหมี่ผัดสไตล์อินเดียรสชาติแปลกๆ แต่กินเพลิน ถ้าคุณชอบชีส มองหาเมนูที่มีคำว่า Paneer ซึ่งก็คือชีสสดที่ทางร้านใส่มาเป็นก้อนๆ เข้มข้นสะใจมาก
การเดินทาง
ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ไปสถานี Ramakrishana Asharm Marg จากนั้นเดิน 500 เมตร
พิกัด 28.6475469 77.22691
เวลาเปิด 10.00 - 22.30
ราคา ประมาณ 100 - 200 รูปี ต่อคน
อาคารมอซอขนาด 1 ห้อง มีตู้แช่เย็นเล็กๆ วางอยู่ข้างหน้า ภายในมีเก้าอี้วางอยู่สี่ห้าตัว และมีชายผิวคล้ำหน้าดุเป็นคนดูแล ถ้าไม่รู้มาก่อน ผมคงไม่คิดว่าเป็นร้านไอศครีม
เมนูแบ่งเป็นสามประเภท คือ Rabri Kulfi Cream (ไอศครีมแบบครีมนม) Stuffed Kulfi (ผลไม้ยัดไส้ด้วยไอศครีม) และ Kulfi Julpeps (ไอศครีมที่ใช้น้ำผลไม้เป็นหลัก) ลองสั่ง Stuffed Mango มาชิมแล้วจะติดใจ
การเดินทาง
ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ไปสถานี Chawri Bazar จากนั้นเดินประมาณ 300 เมตร
พิกัด 28.6473871 77.2267809
เวลาเปิด 11.00 - 23.00
ราคา ประมาณ 100 - 250 รูปี ต่อคน
ร้านไอศครีมแบบดั้งเดิมอีกร้าน ตั้งอยู่ติดกับ Kuremal Mohanlal Kulfiwale การจัดร้าน และหน้าตาคนขายก็ให้อารมณ์เดียวกันกับร้านแรก ที่แตกต่าง คือ ไอศครีมของที่นี่รสหนักและมีกลิ่นเครื่องเทศมากกว่าครับ
การเดินทาง
ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ไปสถานี Chawri Bazar จากนั้นเดินประมาณ 300 เมตร
Karim’s
อาหาร Mughlai
พิกัด 28.6495021 77.2340403
เวลาเปิด 11.00 - 23.00
ราคา ประมาณ 300 - 400 รูปี ต่อคน
การเดินทาง
ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไปสถานี Jama Masjid แล้วเดินอีก 500 เมตร
หรือ ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ไปสถานี Chawri Bazar แล้วเดินอีก 800 เมตร
ร้านตั้งอยู่ในซอกหลืบ ลองมองป้ายดีๆ ครับ
ที่พัก
ราคา ประมาณ 1900 รูปี ต่อคืน
โรงแรมตั้งอยู่ห่างสถานีรถไฟนิวเดลีประมาณ 1.2 กิโลเมตร ในซอยเล็กๆ ไกลจากถนนหลักมากพอที่จะไม่มีเสียงรบกวน แต่ใกล้พอที่จะหาซื้ออาหาร น้ำ และยาได้ง่ายๆ ของแถมคือสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน Ramakrishana Asharm Marg อยู่ห่างออกไปแค่ 500 เมตร ทำให้เดินทางสะดวก
ผมพักที่นี่ทั้งหมด 5 คืน ใน 3 ห้อง ทุกห้องแอร์เสียงดัง บางห้องมีกลิ่นเหม็นจางๆ บางห้องเตียงนิ่มเกินไป นอนไม่สบายนัก แต่ที่ร้ายที่สุด คือ ห้องที่เสียงแอร์ดังสนั่นเป็นพิเศษจนอาเจ๊นอนไม่หลับ ซึ่งเค้าก็เปลี่ยนห้องให้ในตอนเช้า ไม่มีปัญหาครับ
อาหารเช้าที่โรงแรมเตรียมให้ เป็นอาหารพื้นๆ กล้วย ขนมปัง ไข่ต้ม ชา กาแฟ สลัด ไม่มีอะไรพิเศษ เตรียมทิชชูติดมือไปด้วย เพราะจานส่วนใหญ่เปียกซก เหมือนเพิ่งมาจากอ่างล้างจาน
การเดินทาง
จากสนามบิน ขึ้น Airport Line ไปสถานี New Delhi (สุดสาย) เดินผ่านสถานีรถไฟ
ตรงเข้าไปตาม Main Bazar Road เลี้ยวเข้าซอยอีกนิดหน่อย รวมระยะทาง 1.5 กิโลเมตร
ตอนหน้า พบกับอัครา เมืองท่องเที่ยวระดับโลก และประสบการณ์การเข้าโรงพยาบาลอินเดียของหมีเป็ด!!
ตอนหน้า พบกับอัครา เมืองท่องเที่ยวระดับโลก และประสบการณ์การเข้าโรงพยาบาลอินเดียของหมีเป็ด!!