เที่ยว - เดลี อัครา เที่ยวอินเดีย ใครๆ ก็ไปได้ : ตอนที่ 2 อัครา
รถตุ๊กๆ พาเราวิ่งไปตามถนน ซึ่งตกแต่งด้วยธงสีแดงโบกสะบัด รถตำรวจ ทหาร วิ่งกันขวักไขว่ ลำโพงริมทางเปิดเพลงดังแสบแก้วหู และมีป้ายนักการเมืองติดอยู่ทั่วเมือง
“งานเทศกาลเหรอครับ” ผมถามอาปู คนขับ
“ไม่ใช่ นักการเมืองมาหนะครับ”
บรรยากาศคล้ายงานวัดบ้านเราแฮะ ซึ่งเมื่อรวมกับบ้านเรือนเตี้ยๆ และวัวเจ้าเก่า อัครามีบรรยากาศแบบต่างจังหวัด เล็กๆ อบอุ่นกว่าที่คิด
การเดินทางในอัครา
ตุ๊กๆ
อาปูกับอาเจ๊ |
ตุ๊กๆ มีอยู่ทั่วไป คิดราคานักท่องเที่ยวเหมือนกัน แต่ไม่แพงเท่าที่เดลี
สำหรับการเดินทางจากสถานีรถไฟ Agra Cantt ไปยังที่พัก เราใช้บริการพรีเพดซึ่งสะดวกสบาย เดินออกมาจากสถานีไม่กี่สิบเมตร ก็เห็นบูธตุ๊กๆ และแท็กซี่ตั้งอยู่ใกล้กัน เราได้ราคา 800 รูปี รวมค่าโดยสารจากสถานีรถไฟไปที่พัก ค่าพาเที่ยว Agra Fort, Tomb of Akbar the Great, Baby Taj และ Mehtab Bagh
ซึ่งเมื่อไปถึง เราไม่เจอความวุ่นวายอย่างที่คิด มีแค่คนขับแท็กซี่หนึ่ง และคนขับตุ๊กๆ อีกหนึ่ง เข้ามาคุยด้วย แต่ทั้งสองฝั่งถ้อยทีถ้อยอาศัย และน่ารักจนต้องขอเล่า
ขบวนการทั้งหมดเริ่มจากคนขับแท็กซี่เสนอบริการของเขา พร้อมชี้ให้ดูราคาบนป้าย ขณะที่คนขับตุ๊กๆ ยืนดูอยู่เงียบๆ “ไปแท็กซี่ก็ดี” ผมเริ่มคล้อยตาม
“แต่ตุ๊กๆ ถูกกว่า” อาเจ๊พูดขึ้น
“ใช่ๆ ถูกกว่า” คนขับตุ๊กๆ พูดขึ้นมาบ้าง
“ใช่ ตุ๊กๆ ถูกกว่า” อ่าว พี่เป็นคนขับแท็กซี่ไม่ใช่เหรอ เห็นด้วยกะเค้าซะงั้น
เมื่อทุกคนเห็นตรงกันว่าตุ๊กๆ ดีกว่า (รวมทั้งคนขับแท็กซี่...) เราจึงได้ “อาปู” คนขับตุ๊กๆ แสนสุภาพ ผู้ซึ่งไม่มีอีเมล ไม่มีเฟสบุ๊ค มีแค่สมุดพกหนึ่งเล่ม ที่ให้เราเขียนเกี่ยวกับเค้าเป็นภาษาไทย เพื่อที่ว่า ถ้าได้เจอคนไทยอีก ก็จะเอาให้อ่าน เป็นโชเฟอร์พาเที่ยวอัคราและพาไปซื้อยาตอนที่ผมกับอาเจ๊ป่วย
อันที่จริง จะเรียกว่า “พรีเพด” ก็ไม่ถูก เพราะเราไม่ได้จ่ายเงินก่อนแล้วเอาตั๋วไปให้คนขับ แต่เราจ่ายเงินให้คนขับโดยตรงเลย
แท็กซี่
ผมไม่ค่อยเห็นแท็กซี่วิ่งตามท้องถนนนัก ดังนั้นถ้าคุณคิดจะใช้บริการ อาจต้องจ้างตั้งแต่ที่สถานีรถไฟ หรืออาจให้โรงแรมติดต่อให้
สถานที่ท่องเที่ยว
Agra Fort
พิกัด 27.1795328 78.021112
เวลาเปิด พระอาทิตย์ขึ้น - พระอาทิตย์ตก
ค่าเข้าชม
- 550 รูปี สำหรับคนไทย แสดงหนังสือเดินทาง เพื่อลดราคาเหลือ 80 รูปี
- ค่าไกด์ + ทิป 700 รูปี
ป้อมอัครา อีกหนึ่งมรดกโลกบนแผ่นดินอินเดีย ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกด้วยอิฐเมื่อปี 1080 โดยราชวงศ์ศิกวะ (Sikarwar) จากนั้นก็ผ่านสงคราม และรับใช้ผู้ปกครองอินเดียมาหลายยุคหลายสมัย จนชำรุดทรุดโทรม
ปี 1558 พระจักรพรรดิอักบัร (Akbar) ทรงสร้างป้อมนี้ขึ้นมาใหม่ ด้วยหินทรายสีแดง โดยคนงาน 8000 คน และเวลา 8 ปี ต่อมาพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน (Shah Jahan) ทรงปรับปรุงป้อมนี้จนกระทั่งเป็นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
นอกจากความยิ่งใหญ่ของตัวป้อม เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดในโลก โคอินัวร์ (Koh-i-Noor) ก็ถูกพบครั้งแรกที่นี่ มันตกเป็นสมบัติของหลายราชวงศ์ จนกระทั่งเป็นของอังกฤษในที่สุด หลังจากเจียระไน มันก็ถูกประดับอยู่บนมงกุฎของพระราชินีวิคตอเรีย ซึ่งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ “หอคอยแห่งลอนดอน (Tower of London)” ในปัจจุบัน
นี่คือป้อมปราการที่ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ มั่นคง แข็งแกร่ง ป้องป้องพระราชวังที่อยู่ภายใน และมีลูกเล่นที่คาดไม่ถึง เช่น ผนังบางจุดออกแบบให้สามารถใช้พูดคุยกันได้เหมือนโทรศัพท์กระป๋อง ในปัจจุบัน กองทัพอินเดียก็ยังคงใช้ที่นี่อยู่ ทำให้เราเข้าได้แค่บางส่วนเท่านั้น ว้า น่าเสียดาย
การเดินทาง
ตุ๊กๆ หรือแท็กซี่
Fatehpur Sikri
พิกัด 27.0942997 77.6627827
เวลาเปิด พระอาทิตย์ขึ้น - พระอาทิตย์ตก
ค่าเข้า
- 550 รูปี สำหรับคนไทย แสดงหนังสือเดินทาง เพื่อลดราคาเหลือ 80 รูปี
- ค่ารถบัสของอุทยาน 10 รูปี ต่อเที่ยว
ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าบริเวณมัสยิด และต้องจ่ายเงินให้คนเฝ้ารองเท้าด้วย
อื่นๆ
- ค่าไกด์ + ทิป 600 รูปี
- ตุ๊กๆ ไปกลับ 1000 รูปี
มันถูกใช้งานเป็นเวลาสั้นๆ คือตั้งแต่ปีค.ศ. 1572 - 1585 เนื่องจากขาดแคลนแหล่งน้ำ และถึงแม้ว่าจะมีความพยายามกลับมาฟื้นฟูเมืองนี้อีกครั้งในอีกร้อยกว่าปีให้หลัง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
สมกับที่นั่งตากลมมาไกล เพราะมันกว้างใหญ่และอยู่ในสภาพสมบูรณ์สุดๆ มีมุมถ่ายรูปเต็มไปหมด โดยเฉพาะ Buland Darwaza ประตูสูง 40 เมตร ที่ยิ่งใหญ่ อลังการ มองเห็นได้แต่ไกล ห้ามพลาดครับ
การเดินทาง
แท็กซี่ (หรือตุ๊กๆ) สามารถส่งเราถึงแค่ลานจอดรถเท่านั้น ต้องเดินไปขึ้นรถบัสของอุทยานเพื่อไปยัง Fatehpur Sikri ซึ่งอยู่บนเนินเขา และขากลับลงมาก็ต้องใช้รถบัสเช่นกัน
ถึงเราจะมาที่นี่ด้วยตุ๊กๆ แต่อันที่จริงมันผิดกฏหมายนะครับ คนขับต้องจ่ายส่วยให้ตำรวจถึงผ่านได้ แต่ไปอีกไม่ไกล ข้างหน้านั่นก็มีด่านตำรวจอีก อาปู คนขับของเราหน้าซีด ตำรวจคนหนึงโบกมือให้เข้าไป และรถก็ค่อยๆ ชลอความเร็ว
“เอาแล้วไง งวดนี้ท่าทางคนนั่งจะโดนด้วย” ผมคิด
แต่ไม่กี่วินาที รถอาปูก็เร่งความเร็วผ่านด่านไป
“พอผมจอดนะ ตำรวจคนนึงก็พูดว่า จอดทำไม ไปสิ โอย หัวใจจะวาย” อาปู ซึ่งตอนนี้ยิ้มแฉ่ง เริ่มเล่า พร้อมเอามือทาบอก
“พวกนี้เป็นตำรวจ ไม่ใช่ตำรวจจราจร คงมาดักจับอย่างอื่น” เขาสันนิษฐาน
ไม่ใช่แค่อาปูหรอกครับที่หัวใจจะวาย ผมก็ด้วย
Mehtab Bagh
พิกัด 27.1799495 78.0416879
เวลาเปิด พระอาทิตย์ขึ้น - พระอาทิตย์ตก
ค่าเข้า 200 รูปี สำหรับคนไทย แสดงหนังสือเดินทาง เพื่อลดราคาเหลือ 15 รูปี
สวนแสงจันทร์ คือสวนสุดท้าย ใน 11 สวน ที่พระจักรพรรดิบาบูร์ (Babur) ทรงสร้างขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยมุนา และมันก็ถูกปล่อยรกร้างก่อนที่ทัชมาฮาลจะถูกสร้างขึ้นเสียอีก
ตำนานเล่าว่า พระจักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงคิดจะสร้างทัชมาฮาลสีดำ เพื่อเป็นสุสานของพระองค์เอง ขึ้นในบริเวณนี้ เรายังเห็นฐานของมันหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน แต่นักวิชาการเชื่อว่านั่นเป็นแค่ตำนานเท่านั้น ฐานที่เราเห็น แท้จริงคือกำแพงสวนต่างหาก
ปัจจุบัน สวนแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นทรายถูกพัดข้ามแม่น้ำมาสร้างความเสียหายแก่ทัชมาฮาล และกลายเป็นจุดชมทัชมาฮาลที่สวยที่สุดจุดหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงที่ต้นไม้ถูกจัดเป็นแนวนำสายตาเข้าสู่ทัชมาฮาล ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ ฝันๆ เหมือนมันลอยอยู่ในอากาศ
ถ้าไม่มีเวลาหรือเหนื่อยแล้ว ไม่ต้องรอจนถึงเย็นก็ได้ครับ เพราะเราอยู่จนยามไล่ ก็ไม่รู้สึกว่ามีอะไรพิเศษกว่าเดิม
การเดินทาง
ตุ๊กๆ หรือแท็กซี่
Taj Mahal
พิกัด 27.1750151 78.0421552
เวลาเปิด พระอาทิตย์ขึ้น - พระอาทิตย์ตก ปิดวันศุกร์
ค่าเข้า
- 1000 รูปี สำหรับคนไทย แสดงหนังสือเดินทาง เพื่อลดราคาเหลือ 530 รูปี
- ค่าไกด์ + ทิป 2200 รูปี ไกด์ที่นี่แพงมาก
อื่นๆ
- มีทางเข้าสามทาง คือ ประตูทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้
- มีบูธขายตั๋วที่ประตูทางทิศตะวันตกและทิศใต้ ส่วนทางทิศตะวันออก สำนักงานขายตั๋วตั้งอยู่ห่างไปประมาณ800 เมตร พิกัด 27.1666189 78.0521764
- เมื่อได้ตั๋วแล้ว ให้นำไปแลกน้ำดื่ม และถุงผ้าสำหรับคลุมรองเท้า จากโต๊ะใกล้ๆ (ผมไม่แน่ใจว่าประตูอื่นแลกตรงไหนครับ แต่ก็น่าจะอยู่ใกล้ๆที่ขายตั๋ว) เราต้องใช้ถุงผ้านี้หุ้มรองเท้าไว้ ก่อนขึ้นไปบน Taj Mahal
- เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ห้ามเข้า
- ห้ามเอาอาหารเข้าไป ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามขาตั้งกล้อง
- สามารถนำกระเป๋าถือเล็กๆ เข้าไปได้เท่านั้น ถ้าคุณมีกระเป๋าใบใหญ่ อาจต้องฝาก แต่ถ้าที่ฝากเต็มก็งานเข้า อย่าเสี่ยงดีกว่าครับ
สิ่งก่อสร้างจากหินอ่อนสีขาวทั้งหลัง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมุนา สร้างขึ้นโดยพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ในปีค.ศ. 1631 เพื่อเป็นสุสานแก่ มุมตัซ มาฮาล (Mumtaz Mahal) พระมเหสี ซึ่งสิ้นพระชนต์เนื่องจากทรงให้กำเนิดพระโอรสองค์ที่ 14 และเมื่อพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันสวรรคต ร่างก็ถูกฝังไว้เคียงคู่กันที่นี่
กว่าจะออกมาสวยงามอย่างที่เห็น มันใช้เวลาสร้าง 12 ปี (ค.ศ. 1631 - 1643) ใช้ช่างถึง 20000 คน และงบประมาณอีกมหาศาล ภายใต้การความคุมของ Ustad-Ahmad Lahauri สถาปนิกชาวเปอร์เซีย โดยออกแบบให้สมมาตร ไม่ว่ามองจากมุมไหนก็จะเห็นเหมือนกัน หอคอยทั้งสี่ด้านถูกสร้างให้เอียงออกเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ล้มทับอาคารหลักเมื่อเกิดแผ่นดินไหว รวมทั้งเส้นซิกแซกบนเสาหกเหลี่ยม ถึงถ้ามองไล่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะเห็นว่ามันกลายเป็นเสา 8 เหลี่ยมเฉยเลย
น่าเศร้าที่พระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ทรงทุ่มเททั้งเงินและเวลาในการสร้างมากเกินไป ทำให้พระโอรส ซึ่งต่อมาคือพระจักรพรรดิออรังเซพ เห็นว่าควรเอาไปบริหารบ้านเมืองมากกว่า จึงจับไปขังไว้จนกระทั่งสวรรคตที่ Agra Fort
จังหวะที่มองลอดประตูเข้าไป และเห็นทัชมาฮาล “ลอย” เด่นอยู่ไกลๆ ผมอยากอุทานออกมาด้วยคำหยาบคาย ให้ดังที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่เพราะผิดหวัง หรือกองทัพนักท่องเที่ยวที่บังมุมถ่ายรูปผมซะมิด แต่เพราะมันมหัศจรรย์ซะจนไม่รู้จะบรรยายยังไง
การเดินทาง
ตุ๊กๆ หรือแท็กซี่ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ทั้งสองชนิดจะไม่สามารถส่งคุณถึงหน้าประตูได้ครับ ต้องเดินต่ออีกหน่อย
Tomb of Akbar the Great
พิกัด 27.2205556 77.9505086
เวลาเปิด พระอาทิตย์ขึ้น - พระอาทิตย์ตก
ค่าเข้า
- 210 รูปี สำหรับคนไทย แสดงหนังสือเดินทาง เพื่อลดราคาเหลือ 25 รูปี
- ต้องฝากรองเท้าก่อนเข้าไปภายในสุสาน และก็เหมือนเคย ต้องจ่ายค่าเฝ้ารองเท้าด้วย
- เจ้าหน้าที่เฝ้าห้องเก็บหีบพระศพ อาจอณุญาตให้คุณถ่ายภาพ (โดยที่เราไม่ต้องขอ) แลกกับเงินนิดหน่อย
สุสานของพระจักรพรรดิอักบัร (Akbar) กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของอินเดีย สร้างขึ้นช่วงปี ค.ศ. 1605 - 1613 จากหินทรายสีแดง ประดับด้วยหินอ่อน ภายในตกแต่งอย่างงดงาม
น่าเสียดายที่ในสมัยของพระจักรพรรดิออรังเซพ (ซึ่งเป็นเหลน) มีกลุ่มกบฏเข้ามาปล้นของมีค่า และสร้างความเสียหายให้แก่ตัวอาคารอย่างหนัก กว่าจะได้รับการบูรณะให้กลับมามีสภาพดีอีกครั้ง ก็ในสมัยที่อังกฤษปกครองอินเดียนี่เอง
ภายในสุสานมีห้องโถงเพดานสูง มืดตื๋อ ตรงกลางมีหีบศพตั้งอยู่
“ก็น่าจะถ่ายได้นะ” ผมคิดในใจ แล้วยกกล้องขึ้นเล็ง
“ไม่ ห้ามถ่ายรูป!” เจ้าหน้าที่พูดขึ้นอย่างขึงขัง
ผมกับอาเจ๊เลยยืนมองอยู่เงียบๆ ได้ยินเสียงนกกระพือปีกก้องอยู่เหนือหัว นักท่องเที่ยวค่อยๆ ทยอยกันออกไป จนเหลือเราสามคน
“ถ่ายเลยๆ” พี่เจ้าหน้าที่คนเดิม แต่งวดนี้พูดด้วยเสียงกระซิบกระซาบ
อ่าว ถ่ายได้เหรอ แล้วทำไมตะกี้ห้าม ผมถ่ายไปสองสามภาพ แล้วหันหลังกลับ เงาดำแต่ฟันขาวก็ปรากฏขึ้นข้างๆ และกระซิบเบากว่าตะกี้ ว่า
“มันนี่ มันนี่”
การเดินทาง
ตุ๊กๆ หรือแท็กซี่
ระหว่างทางไปที่นี่ ผมเจอรถติดเป็นแถวยาว และฝุ่นตลบอบอวน รู้สึกโชคดีที่เอาหน้ากากติดมาด้วย
Tomb of Itmad-ud-Daulah (Baby Taj)
พิกัด 27.1928873 78.0309808
เวลาเปิด พระอาทิตย์ขึ้น - พระอาทิตย์ตก
ค่าเข้า 210 รูปี สำหรับคนไทย แสดงหนังสือเดินทาง เพื่อลดราคาเหลือ 25 รูปี
สุสานอิทมัด-อุด-เดาลา สร้างขึ้นริมแม่น้ำยมุนาในปี 1622 โดย Nur Jahan เพื่อ Mizra Ghiyas Beg ผู้เป็นบิดา ซึ่งอาจไม่มีอะไรน่าสนใจนัก ถ้าเขาไม่ได้เป็นปู่ของ มุมตัซ มาฮาล (Mumtaz Mahal) พระมเหสีของพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน (สรุปว่า นี่คือสุสานสำหรับปู่ของมุมตัซ มาฮาล)
สุสานนี้สร้างเพื่อ เพื่อ Mizra Ghiyas Beg แต่ทำไมถึงชื่อว่า Tomb of Itmad-ud-Daulah?
เพราะว่า Mizra Ghiyas Beg เป็นชื่อบุคคลครับ ส่วน Itmad-ud-Daulah เป็นตำแหน่ง ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เสาหลักของบ้านเมือง”
นี่เป็นสิ่งก่อสร้างในศิลปะแบบโมกุลแห่งแรกที่สร้างจากหินอ่อนทั้งหลัง ถึงแม้ว่าจะมีขนาดเล็กแต่ก็ทดแทนด้วยรายละเอียดที่งดงาม โดยเฉพาะม่านบังตา (Jalis) ซึ่งสลักจากหินอ่อน จนกระทั่งมันมีชื่อเล่นว่า Baby Taj
สุสานขนาดเล็กน่ารัก แต่แน่นไปด้วยลวดลายสวยงาม เดินไม่ทันเหนื่อยก็วนรอบซะแล้ว ก็ดีเหมือนกัน หลังจากที่ขาลากกับสุสานใหญ่ๆ มาทั้งวัน
การเดินทาง
ตุ๊กๆ หรือแท็กซี่
อาหาร
Sunita Homestay
มังสวิรัติ
พิกัด 27.1677219 78.0496477
ราคา 300 รูปี
อาหารที่บ้านพัก ราคาแพงมากถ้าเทียบกับอาหารข้างนอก อาจเป็นเพราะปรุงสดใหม่ และไม่ได้ซื้อวัตถุดิบมาครั้งละเยอะๆ สั่งล่วงหน้า 1 ชั่วโมงถึงจะได้กิน แต่อร่อยนะครับ คุณป้าภูมิใจเสนอ
การเดินทาง
ตุ๊กๆ หรือแท็กซี่
Hotel Atulyaa Taj
นานาชาติ
พิกัด 27.168917 78.049946
ราคา 350 - 750 รูปี
ที่นี่มีบุฟเฟ่ต์ในตอนเช้า ราคาหัวละ 300 รูปี หลังจากมื้อเช้า จะขายอาหารตามปกติ ผมมาที่นี่ตอนเย็น ลองสั่งกับข้าวมาสองสามอย่าง รสชาติกลางๆ ไม่อินเดียจ๋า พอกินได้ครับ
การเดินทาง
ตุ๊กๆ หรือแท็กซี่
ที่พัก
Sunita homestay
พิกัด 27.1677219 78.0496477
ราคา
- ประมาณ 1000 รูปี ต่อคืน ถ้าใช้เครื่องปรับอากาศ เพิ่มอีก 350 รูปี ต่อคืน
- มีเครื่องซักผ้าให้ใช้ คิดราคาตามจำนวนผ้า
นี่คือบ้านของคนอินเดียตัวจริงเสียงจริง ตั้งอยู่ห่างจากเขตตลาด และ Taj Mahal ประมาณ 800 เมตร มองเห็นได้จากดาดฟ้า
คุณลุงเป็นไกด์ ส่วนคุณป้าดูแลบ้าน ทุกเช้า-เย็น คุณลุงจะทำพิธีขับไล่สิ่งชั่วร้ายด้วยการสั่นกระดิ่งในห้องที่เต็มไปด้วยรูปสักการะ หัวค่ำ สมาชิกครอบครัวและแขกที่มาพัก จะกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตากันจนเสียงพูดคุยดังสนั่น
อาหารเช้าที่นี่เป็นแบบพื้นๆ กล้วยหอมลูกโต ซึ่งไม่หวานหอมแบบบ้านเรา ขนมปัง แยม เนย โดยมีพระเอกอยู่ที่ชา ซึ่งอร่อยมาก นอกนั้นยังมีของอย่างอื่นขายในราคาปกติอีกนิดหน่อย เช่น น้ำดื่มเกรดพรีเมี่ยม 20 รูปี ชา 10 รูปี (ถ้าสั่งนอกมื้อเช้า) กาแฟ 20 รูปี หรือกับข้าวปรุงใหม่ๆ จากในครัว ใช้เวลาทำ1 ชั่วโมง ราคา 300 รูปี
ที่นี่มีมีเครื่องซักผ้าให้ใช้ ผมซักผ้ากองโตในราคา 150 รูปี ซักเสร็จ คุณลุงเจ้าของบ้านขึ้นไปช่วยตากอีกตะหาก
การเดินทาง
ตุ๊กๆ หรือแท็กซี่
โรงพยาบาล
Shanti Mangalick Hospital
พิกัด 27.1575037 78.0560646
เวลาเปิด 24 ชั่วโมง
อื่นๆ ที่อยู่ของโรงแรมสำคัญมากมากมาก พกติดตัวไปด้วยนะครับ
ผลจากการกินน้ำฟรีตามสถานที่ท่องเที่ยว ที่ขนาดอาปูคนขับรถยังส่ายหน้า ทำให้ผมเจ็บคอและไข้ขึ้น ส่วนอาเจ๊ท้องเสียและไข้ขึ้น เราให้อาปูพาไปซื้อยากับเภสัช แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น สุดท้ายเลยถามคุณลุงเจ้าของที่พักให้ช่วยแนะนำคลีนิคให้หน่อย
“ไปทำไมคลีนิค แพง ยาที่ได้ก็เหมือนๆ กันนั่นแหละ” ลุงบอก
“แล้วไปโรงพยาบาลไม่ต้องรอคิวเหรอครับ” ผมสงสัย
“ไม่ต้องงงงงง ไปโรงพยาบาลนะ โอเค๊” แล้วแกก็จัดแจงส่งภาษาฮินดีทางโทรศัพท์ เรียกตุ๊กๆ มาให้
ไม่ชอบโรงพยาบาลไทย เข้าโรงพยาบาลอินเดียไปเลยละกัน คนคงล้นหลาม รอคิวกันเป็นวันแหง
แต่ไม่ใช่ครับ ลุงพูดจริง!
ขั้นตอนก็แสนง่าย ไปที่เคาน์เตอร์ บอกว่าอยากพบหมอ จ่ายเงิน 60 รูปี เขียนชื่อ อายุ เพศ และที่อยู่ของโรงแรม เขียนเสร็จแล้วก็พบหมอได้ทันที ซึ่งคุณหมอก็ซักถามอาการ จากนั้นก็ส่งเราไปอีกห้อง เพื่อวัดไข้ วัดความดัน ระหว่างตรวจ เจ้าหน้าที่ก็ยุกยิกๆ
แล้วก็สั่งจ่ายยา
สุดท้ายเราก็ได้ยามาสองชุดใหญ่ ราคารวมประมาณ 650 รูปี กินแค่วันเดียวอาการของเราก็ค่อยๆ ดีขึ้น ประทับใจมากครับ
การเดินทาง
ตุ๊กๆ หรือแท็กซี่
ตอนหน้า ส่งท้ายทริปอินเดียด้วยแผนการเดินทางของเรา และค่าใช้จ่ายทั้งหมดครับ