เที่ยว - เดลี อัครา เที่ยวอินเดีย ใครๆ ก็ไปได้ : ตอนจบ แผนการเดินทางและค่าใช้จ่าย


เมื่อถึงอินเดีย แผนการเดินทางที่ผมเตรียมไว้จากบ้านก็ลอยลงแม่น้ำคงคาไป กลายเป็นแผนกึ่งด้นสดแบบที่คุณกำลังจะได้อ่าน ^^







วันที่ 1

11.40   สนามบิน ไป โรงแรม Hindustan by Backpackers Heaven

เราขึ้น Airport Line จากสนามบิน ไปจนสุดสายที่ New Delhi Metro Station ออกมาจากสถานีรถไฟฟ้า ข้างหน้าคือแดดเปรี้ยง และรถตุ๊กๆ จอดกันเป็นระเบียบ

กระเป๋าหนัก แดดร้อน ขาดกาแฟ อาเจ๊เริ่มไม่ปลื้ม  เราเลยตัดสินใจเดินไปหาตุ๊กๆ เอาที่อยู่โรงแรมให้ดู
“ทางนี้ ทางนี้ เดินตรงไปเลย ห้านาทีถึง” คนขับชี้ไม้ชี้มือ
ไม่เหมือนที่คิดแฮะ ตุ๊กๆ ไม่มารุมล้อม แถมไม่รับลูกค้าอีกตะแน่ะ

เราเดินต่อไปจนถึงสถานีรถไฟนิวเดลี ซื้อตั๋วพรีเพด ที่ใช้ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องต่อรองกับตุ๊กๆ เพื่อให้พาไปโรงแรมอยู่ดี

ห้านาทีของพี่ตุ๊กๆ คนแรก คืออะไร
แกอาจะพูดเว่อร์ไปหน่อย แต่ความจริง เส้นทางจากสถานีรถไฟฟ้าจนถึงโรงแรม ง่ายมากๆ เดินข้ามสถานีรถไฟนิวเดลี แล้วตรงยาว เลี้ยวอีกนิดหน่อยก็ถึงครับ



15.00   โรงแรม ไป ร้าน Sita Ram Diwan Chand

เป็นร้านที่อยู่ใกล้โรงแรมมาก เดินผ่านแพะและกองขยะมุมตึกไปนิดเดียว



17.30   โรงแรม ไป Gurudwara Bangla Sahib

การเดินระยะ 2 กิโลเมตรในเดลี ไม่สบายอย่างที่คิด เพราะทั้งฝุ่นควันและการข้ามถนนสุดลุ้นระทึก ดูดพลังงานพอสมควร  ระหว่างทางผ่านร้านขายขนมน่ากินหลายร้าน ดูสะอาด ลูกค้าแน่น แสดงว่าต้องอร่อย น่าเสียดายที่กินอะไรไม่ลงแล้ว ขากลับผมอยากเดิน จะได้ผ่านร้านขนมอีก แต่อาเจ๊บอกว่า “นั่งตุ๊กๆ!!”







วันที่ 2

7.30   จากโรงแรม ไป Red Fort


เราเดินจากโรงแรม ไปขึ้นรถไฟฟ้าดินสายสีเหลือง ที่สถานี New Delhi (อยู่ใกล้สถานีรถไฟ) ไปยังสถานี Chandni Chowk เดินตามตรอกแคบๆ ออกมาก็จะเจอกับถนนแสนวุ่นวาย และกำแพงสูงของ Red Fort อยู่ไกลๆ



10.00   ออกจาก Red Fort ลองของกินริมทาง

ลองของกินริมทางระหว่างเดินกลับไปสถานีรถไฟฟ้า เจอคนถีบสามล้อเข้ามาเสนอตัวพาเที่ยวเป็นพักๆ ซึ่งเราก็แค่ปฏิเสธไปอย่างสุภาพ เค้าก็จากไปแต่โดยดี



12.00   ตามหาร้านไอศครีม 

ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจาก Chandni Chowk ไปสถานี Chawri Bazar เพื่อตามหาร้านไอศครีม

เดินหลงวนเวียนตาม Google Map อยู่นานสองนานกว่าจะเจอ แถมร้านดันปิดอีกต่างหาก  โชคดีที่แถวนั้นของกินเยอะ ได้ขนมฟรีจากลุงร้านขนม แถมหนุ่มอินเดียเลี้ยงข้าว พุงแทบแตก กินอะไรไม่ไหวแล้ว

จากตรงนี้ ขึ้นรถไฟฟ้าที่ Chawri Bazar ไปลง New Delhi แล้วเดินกลับโรงแรมครับ



17.00   โรงแรม ไป ร้าน Rumi Amritsari Naan

เป็นร้านที่อยู่ตรงข้าม Sita Ram Diwan Chand อร่อย และดูสะอาดกว่าร้านอื่นในระแวกนั้น เรากลับมาร้านนี้บ่อยมาก






วันที่ 3

06.25   ขึ้นรถไฟไปอัครา
ออกจากโรงแรมแต่เช้า คิดว่าอาจจะเปลี่ยว คิดว่าอาจไม่มีรถตุ๊กๆ ผมคิดผิดครับ เพราะมีเพื่อร่วมทางเป็นขบวน และตุ๊กๆ ก็เริ่มเรียกลูกค้ากันแล้ว

นั่งๆ นอนๆ บนรถไฟ อยู่ๆ ฝรั่งข้างๆ ก็เลิกลัก หันมาถามผมว่า นี่สถานี Agra Cantt รึเปล่า  ผมชะโงกออกไปดูจากประตูรถไฟ ก็ไม่เห็นป้ายสถานีเขียนไว้ตรงไหน จนพนักงงานคนหนึ่งเดินผ่านมา
“นี่แหละ อัครา” ผมยังไม่ทันถามด้วยซ้ำ
ทำไงหละฮะ รีบแจ้นลงจากรถไฟสิ



10.00   ถึงที่พัก Sunita Homestay
เราใช้บริการรถตุ๊กๆ จากบูธพรีเพด ซึ่งจะบอกว่า “พรีเพด” ก็ไม่ถูกนัก เพราะเราจ่ายเงินให้คนขับโดยตรง  เพียงแต่การใช้บริการตรงนี้ (น่า) จะได้ราคามาตรฐานครับ



10.30   ตุ๊กๆ พาทัวร์

เราตัดสินใจให้คนขับตุ๊กๆ พาทัวร์  Agra Fort, Tomb of Akbar the Great, และ Baby Taj ใช้เวลาที่ละไม่เกิน 1 - 1.30 ชั่วโมง จบทริปด้วยการนั่งรอดูพระอาทิตย์ตกที่ Mehtab Bagh  เที่ยววันเดียวก็แทบจะครบแล้วแฮะ






วันที่ 4

14.00   ไป Fatehpur Sikri


เราตกลงกับตุ๊กๆ ให้เค้าช่วยพาไปที่นี่ด้วย  มันอยู่ห่างจากเมืองประมาณ 40 กิโลเมตร ผ่านทุ่งนาเวิ้งว้าง ใช้เวลาเดินทางไป 1 ชั่วโมง อยู่ที่นั่นราว 2 ชั่วโมง และกลับอีก 1 ชั่วโมง



18.30   กลับถึงโรงแรม
ถึงโรงแรมอย่างสะบักสะบอม






วันที่ 5

9.00   หาหมอ
อาเจ๊ตื่นขึ้นมาพร้อมไข้สูง ตัดสินใจหาหมอดีกว่า
คุณลุงที่ Sunita homestay ใจดี ทั้งแนะนำโรงพยาบาล ทั้งเรียกตุ๊กๆ มารับ  เราไม่แน่ใจว่าที่อื่นเป็นยังไง แต่ที่ Shanti Mangalick Hospital บริการรวดเร็วและจ่ายยาดีมาก  ขอบคุณมากครับคุณลุง



14.30   Taj Mahal

ได้เวลาออกไปทัชมาฮาลซะที ผมจะเข้าประตูทิศตะวันออก เพราะอยู่ใกล้ที่พัก ดังนั้นจึงต้องเดินไปซื้อตั๋วที่สำนักงาน พิกัด 27.1666189  78.0521764 (ประตูอื่นมีบูธขายตั๋วตรงทางเข้าครับ) หลังจากซื้อตั๋วแล้วผมก็ขึ้นรถเมล์ไฟฟ้าที่เค้าเตรียมไว้ให้



18.30   ลองกินข้าวในโรงแรม Hotel Atulyaa Taj
เดินข้ามถนนลองกินข้าวโรงแรมใกล้ๆ ที่พัก ปรากฏว่างั้นๆ ครับ อาจเป็นเพราะเค้าปรับรสชาติให้มันกลางๆ นักท่องเที่ยวจะได้กินได้






วันที่ 6

11.00   ขึ้นรถไฟ กลับเดลี
ตุ๊กๆ ที่นัดไว้ มารับเราตรงเวลาแป๊ะ ถึงสถานีรถไฟแบบไม่ต้องลุ้น



15.30   จากสถานีรถไฟ New Delhi ไป โรงแรม Hindustan by Backpackers Heaven
ใช้พลังงานที่กักตุนไว้ตอนอยู่บนรถไฟเดินกลับโรงแรม คุ้นเคยทางแล้ว สบายมากๆ



16.00   กินข้าว ร้าน Rumi Amritsari Naan
กลับมาอุดหนุนนานเจ้าประจำอีกครั้ง ท้องอิ่มก็กลับไปจำศีลที่โรงแรมตามระเบียบ



18.00   จากโรงแรม ไป Sri Laxmi Narayan Mandir (Laxminarayan Temple)

อยู่ห่างจากโรงแรม 2 กิโลเมตร  เราตัดสินใจเดินไป ผ่านย่านที่มีต้นไม้สูงใหญ่ รถน้อย แทบไม่มีเสียงแตร และฝุ่น  เด็กกลุ่มหนึ่งเล่นสนุกอยู่ในสวน ข้างหน้ามีคนจูงลาบราดอร์เดินผ่านมา และตรงหัวมุมใต้เงามืดของต้นไม้ มีหญิงชราผิวคล้ำผอมซูบนอนแน่นิ่ง กับชายคนหนึ่งที่พยายามประคองเธอขึ้นมา เพื่อดื่มน้ำ






วันที่ 7

10.00   โรงแรม ไป Qutub Minar

เริ่มจากขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานี Ramakrishana Asharm Marg ซึ่งห่างจากโรงแรมแค่ 500 เมตร แล้วเปลี่ยนไปขึ้นสายสีเหลืองที่ Rajiv Chowk นั่งยาวๆ จนถึง Saket Metro Station แล้วต่อตุ๊กๆ ไปอีก 100 รูปี

คนขับพยายามเบี่ยงตัวสุดฤทธิ์ ให้เราเห็นหอสูงจากระยะไกล ผ่านกระจกหน้ารถ



12.00   Qutub Minar ไป Swaminarayan Akshardham
จาก Qutub Minar เราขึ้นตุ๊กๆ กลับมาสถานีรถไฟใต้ดิน คราวนี้บนรถมีเพื่อนร่วมทางด้วยฮะ

“สวัสดี คุณมาจากไหนกันอ๊ะ จีนเหรอ เด็กๆ ผมพูดจีนได้ด้วยนะ แต่ตอนนี้ลืมหมดแล้ว”
“ผมมาจากประเทศไทยครับ”
“ผมมาจากธิเบต อพยพมาอยู่อินเดียตั้งแต่เด็กๆ ผมอยู่เดลีตั้งนาน เพิ่งมาแถวนี้ครั้งแรก...” แล้วพ่อหนุ่มคนนี้ก็พูดไปเรื่อย ผมอยากจะบอกว่าพอเหอะพี่ แขนข้าพเจ้าเปียกหมดแล้ว
ค่าโดยสารของรถตุ๊กๆ ที่รอรับคนหลายๆ คนไปพร้อมกันแบบนี้ ตกคนละ 20 รูปีเท่านั้นครับ

ตัดกลับมาที่สถานีรถไฟ  เรากลับไป Rajiv Chowk แล้วเปลี่ยนไปขึ้นสายสีนำเงิน เพื่อไปสถานี Akshardham จากนั้นนั่งสามล้อถีบไปอีกไม่กี่ร้อยเมตรก็ถึงครับ (หรือจะเดินไปก็ได้) แต่ด้วยความที่ต้องฝากของยุ่งยาก ถ่ายรูปก็ไม่ได้ เราเลยตัดสินใจกลับโรงแรมดีกว่า เชอะ



12.15   Swaminarayan Akshardham ไป โรงแรม
ขึ้นรถสายสีน้ำเงินที่สถานี Akshardham แล้วยาวไป Ramakrishana Asharm Marg ได้เลย



15.00   ไป Humayun's Tomb
อาเจ๊โดนดูดติดเตียงไปเรียบร้อย  ผมเลยต้องฉายเดี่ยว (ขอบอกเลยว่าอาเจ๊พลาดมาก)

เริ่มจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานี Ramakrishana Asharm Marg เจ้าเก่า แล้วไปเปลี่ยนเป็นสายสีม่วงที่สถานี Mandi House เพื่อไปยังสถานี JLN Stadium  แล้วต่อตุ๊กๆ ไป Humayun's Tomb ราคา 60 รูปี



17.30   ไป Rashtrapati Bhavan และ India Gate
“เมโทร 100 รูปี” ตุ๊กๆ คันหนึ่งเรียกลูกค้า
“เมโทร 50 รูปี” เดี๋ยวนะ ยังไม่ทันต่อราคาเลย
ผมเห็นว่าราคาถูกกว่าขามา เลยขึ้นไปนั่ง แต่รถไม่ขยับแฮะ

“เมโทร 100 รูปี”
“เมโทร 50 รูปี” พี่แกใช้มุขเดิมเรียกฝรั่งพ่อลูก
“โนว คุณจอดรอคนนี่  20 รูปี เอาไหม” ฝรั่งตอบเสียงแข็ง
“เอาๆ ขึ้นมา” ตุ๊กๆ ส่ายหัวดุ๊กดิ๊ก

เฮ้ย งี้ทำไมผมต้องจ่าย 50 อ๊ะ
“งั้นของผมก็ 20 รูปีนะ” ผมต่อราคามั่ง
“เอาๆ 20 รูปีก็ได้” แกตอบมายิ้มๆ ส่ายหัว ลอยหน้าลอยตา 
ต้องยกให้ฝรั่งเป็นฮีโร่ฮะ งานนี้

นั่งตุ๊กๆ ขึ้นรถไฟฟ้าที่สถานี JLN Stadium ไปสถานี Central Secretariat  ซึ่งอยู่ใกล้ทำเนียบประธานาธิบดี (Rashtrapati Bhavan)
ส่วนทำเนียบประธานาธิบดี (Rashtrapati Bhavan) อยู่ห่างจาก India Gate ประมาณ 2 กิโลเมตร และมันก็ค่อนข้างมืดแล้ว ผมตัดสินใจนั่งตุ๊กๆ ไปครับ



18.30  India Gate ไป โรงแรม
นั่งตุ๊กๆ ไปลงสถานีรถไฟฟ้า Central Secretariat  แล้วขึ้นสายสีเหลืองไป Rajiv Chowk จากนั้นเปลี่ยนเป็นสายสีน้ำเงิน เพื่อไป Ramakrishana Asharm Marg เดินต่ออีกนิดก็ถึงโรงแรม สบายๆ ครับ
สบายซะที่ไหน
เพราะนี่คือเวลาเร่งด่วน คนล้นหลาม ขาขึ้นเข้าคิวเป็นระเบียบเรียบร้อย (แบบอินเดียๆ) รถมาก็กรูกันเข้าไป ผมพยายามยืนใกล้ประตู เพราะอีกเดี๋ยวก็ลง  เมื่อถึงจุดหมาย ประตูรถไฟฟ้าเปิดออก แต่มีกำแพงมนุษย์ผู้ชายสามสี่ชั้นอยู่ระหว่างผมกับประตูรถ ไม่มีใครขยับ ผลักก็ไม่กระดิก ตัดสินใจมุดแทรกระหว่างเอวถึงรอดออกมาได้






วันที่ 8

12.30   จากโรงแรม ไป ตามล่าไอศครีมอินเดียอีกครั้ง ฮัดช่า

เราเดินจากโรงแรม ไปขึ้นรถไฟฟ้าดินสายสีเหลือง ที่สถานี New Delhi ไปที่ Chawri Bazar แล้วเดินไปอีกหน่อย  สำเร็จครับ งวดนี้ร้านเปิด  แถมมีสองร้านติดกันอีกต่างหาก อุดหนุนทั้งคู่ซะเลย



13.30   จากร้านไอศครีม ไป Jama Masjid

เดินประมาณ 750 เมตร ผ่านย่านการค้าที่คึกคัก และวุ่นวายสุดๆ ผมมองหาร้านนมคุณลุง ที่เจอเมื่อวันแรกๆ แต่หาไม่เจอ เพราะน่าจะไปกันคนละทาง



14.30   Jama Masjid  ไป กินข้าว ร้าน Karim’s
ร้านอาหารสไตล์โมกุลตั้งอยู่ในหลืบ ของซอยข้างๆ มัสยิด



15.30   จาก Jama Masjid  ไป โรงแรม

เดินย้อนกลับทางเดิม ขึ้นรถฟ้าสายสีเหลืองที่สถานี Chawri Bazar ไป New Delhi แล้วก็เดินยาวๆ กลับโรงแรมครับ






วันที่ 9

10.30   จากโรงแรม ไป สนามบินนานาชาติอินทิรา คานธี

เดินเหมือนเดิมฮะ ขึ้นรถไฟฟ้าสาย Airport Line ที่สถานี New Delhi ใช้เวลาทั้งหมด 1 ชั่วโมง



14.00   (เวลาอินเดีย) เดินทางออกจากสนามบินนานาชาติอินทิรา คานธี



19.45   (เวลาไทย) ถึงสุวรรณภูมิ
ถึงบ้านแล้ว เย่
















ค่าใช้จ่าย

ค่าวีซ่าแบบ e-Visa = 3600
ประกันการเดินทาง = 520
ค่าตั๋วเครื่องบิน Jet Airways = 13000 บาท
ค่าตั๋วรถไฟไป-กลับ เดลี อัครา = 1500 บาท
ค่าที่พัก เดลี = 5000 บาท
ค่าที่พัก อัครา = 2500 บาท
ค่าเดินทางในเดลี = 1050 บาท
ค่าเดินทางในอัครา = 1320 บาท
ค่าอาหาร และน้ำ = 4600 บาท  ทริปนี้เรากินน้อยกว่าปกติครับ
ค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว =  1365 บาท
ค่าไกด์ = 2100 บาท
ค่ารักษาพยาบาล = 650 บาท  รวมค่ายาที่ซื้อเองและยาจากโรงพยาบาล
ค่าของฝาก = 600 บาท

รวมค่าใช้จ่ายสำหรับสองคน = 37,805 บาท
ถ้าคุณเดินทางคนเดียว ก็น่าจะประมาณ = 24,060 บาท
















และเรื่องอื่นๆ

ปลั๊กไฟ


เท่าที่เห็น หน้าตาเป็นแบบนี้ แบบด้านบน เราใช้ปลั๊กแบบหัวกลม สามขาเสียบได้  ที่เห็นรูเยอะๆ นั่นคือเค้าทำมาเผื่อปลั๊กหลายๆ ขนาดครับ






เดลีสกปรก

สกปรกและเหม็นเป็นบางพื้นที่ครับ โดยเฉพาะเขตเมืองเก่าและรอบๆ สถานีรถไฟ นอกนั้นเท่าที่ผมเห็นก็ไม่ต่างจากกรุงเทพมากนัก ยกเว้นเรื่องฝุ่น ที่เดลีแย่กว่ากรุงเทพมาก






แตรหละ
คนอินเดียบีบแตรเหมือนเล่นสนุก บีบได้ทุกจังหวะ ไม่มีรูปแบบตายตัว บางครั้งโดนรถตัดหน้ากลับเงียบ แต่บีบใส่รถที่ติดไฟแดงอยู่ บางครั้งก็บีบใส่รถคั้นหน้าที่ขับช้า ก่อนจะแซงขึ้นไป อาจเป็นการเตือนว่าจะแซงแล้วนะ หรือเค้าคิดอะไรเราก็ไม่อาจเดาได้

แต่ที่แน่ๆ กลับมาเมืองไทย ผมอยากบีบแตรเล่นมั่งงะ






คนอินเดียเหม็น
คนอินเดียไม่เหม็นอย่างที่เข้าใจ  ผมไปอัดในรถไฟฟ้าอินเดีย  เรียกว่าใกล้ชิดจนหายใจต่อกัน เบียดจนแขนเสื้อชื้น ก็ไม่รู้สึกว่าเหม็นเป็นพิเศษนะครับ กลิ่นปกติเหมือเราอยู่ในรถไฟฟ้าคนเยอะๆ ช่วงเลิกงาน






คนอินเดียขี้โกง
ร้านค้าส่วนใหญ่ซื่อสัตย์ ทอนเงินครบครับ  อาจมีเรื่องเอาน้ำดื่มราคาถูก มาขายแพงบ้าง แต่อันนี้บ้านเราก็เป็นนิ จะไปว่าเค้าก็คงไม่ได้

ตุ๊กๆ เรียกราคามากกว่าราคามาตรฐาน 3 - 4 เท่า และชอบชวนไปร้านขายของ แต่คุณต่อรองได้ และถ้ายืนกรานว่าจะไม่ไปร้านที่เค้าจะพาไป เค้าก็จะไม่พาไป  เอ... แต่ไม่ว่าจะไปที่ไหน ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศพัฒนาแล้ว คนอาชีพนี้ก็มีชื่อเสียงเรื่องโก่งราคานักท่องเที่ยวเนอะ แปลกจริงๆ

เท่าที่เราเจอ คนที่นี่โกงแบบ “เล่น” ซะมากกว่า คือได้ก็เอา ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร  ถ้าโดนจับได้ก็คืนเงิน  บางคนยังไม่ทันจับได้ ชิงคืนเงินมาก่อนก็มี






จ้างไกด์ VS ไม่จ้างไกด์

อาเจ๊โดนไกด์จับมาถ่ายรูป แต่ดันมีโทรศัพท์เข้าพอดี

การจ้างไกด์ทำให้ผมได้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของแต่ละสถานที่ ข้อเสียคือมีเวลาถ่ายรูปน้อยไปหน่อย เพราะต้องเดินตามเค้าตลอด

กลับมาถึงเมืองไทย ก็นึกได้ว่า มัน(น่า)จะมีทางแก้นี่

ก่อนอื่นเราต้องรู้การทำงานของไกด์ ซึ่งเท่าที่เจอ ทุกคนมีขั้นตอนการทำงานคล้ายกัน คือ เริ่มจากเสนอตัวที่ทางเข้าบริเวณบูธขายตั๋ว จากนั้นพาเราเดินดูสถานที่ท่องเที่ยว แล้วก็จะวนกลับมาจบที่ทางเข้า ซึ่งถ้าออกมาแล้ว ก็ต้องซื้อตั๋วใหม่ จึงจะกลับเข้าไปได้อีก

ดังนั้น จังหวะที่ไกด์พาคุณเดินกลับ ถ้าเราขอจบการนำเที่ยวและจ่ายเงินก่อนออกไปนอกประตู ก็น่าจะสามารถเดินเล่นข้างในได้ตามอัธยาศัย  ซึ่งถ้าทำตามแผนนี้ได้ การจ้างไกด์ก็เป็นตัวเลือกที่ดีครับ






น้ำดื่ม

ห้ามกินน้ำฟรีโดยเด็ดขาดดด ยกเว้นว่าคุณจะอยากลองใช้บริการโรงพยาบาลอินเดีย ^^ 
ถ้าเป็นไปได้ เราแนะนำให้ซื้อยี่ห้อ Bisleri ขวดใหญ่ ราคา 20 รูปีครับ