กิน - อาเจ๊ VS ของกินอินเดีย จุดจบอาเจ๊ 02


เช้าวันที่สาม เรานั่งรถไฟ 4ช.ม. จากเดลี ไป อัครา เจอกับมิจฉาชีพที่สถานีพอเป็นสีสัน
จากนั้นเข้าพักที่โฮมสเตย์ ห่างจากทัชมาฮาลไม่ถึง 1 ก.ม.





Sunita homestay --- Agra
พิกัด 27.1677219 78.0496484

Sunita homestay เน้นบริการที่พัก แต่ก็สั่งอาหารกินได้ด้วย จะทำก็ต่อเมื่อมีออเดอร์เท่านั้น  
ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ชุดละ 300 รูปี

เริ่มจาก ซ้ายบน - แป้งจาปาตี ย่างมาร้อนๆ รสเค็มมันอ่อนๆ

ขนมหวานชิ้นสีขาวใต้ส้อม ชื่อ Petha ขนมขึ้นชื่อเมืองอักรา บ้างเรียก White Pumpkinไม่ก็ White Melon
แต่ลองชิมแล้วมันคือ ฟักเชื่อมน้ำตาล บ้านเรานี่เอง

ข้าวบาสมาตีเม็ดนุ่มนิ่ม ไม่แห้ง

ซ้ายล่าง - ไม่แน่ใจชื่อที่ถูกต้อง ขอเรียกว่า แกงพริกสูตรคุณป้านะคะ
พริกเขียวเม็ดใหญ่ผัดกับเครื่องเทศจนเปื่อย เผ็ดนำ เค็มหวานนิดๆ ครบรส

ถัดมา Jeera Aloo มันฝรั่งผัดเครื่องเทศแบบแห้ง รสกลมๆ เค็มมันนวลๆ
สุดท้าย Masala Aloo Moong แกงถั่วเขียวใส่มันฝรั่ง รสเค็มเปรี้ยว เผ็ดร้อนเล็กน้อย





แต่สิ่งที่ติดใจกว่านั้นคือ ชาร้อน Chai (จัย) บ้านคุณป้า
ขอตามไปดูวิธีชงในครัว ป้าแอบเขิน ไม่ยอมมองกล้อง

สูตรของป้าคือ ต้มน้ำเปล่า ใส่ชา ขิงสดตำ น้ำตาล ต้มจนเดือดซักพัก แล้วเติมนม
ต้มให้เดือดอีกครั้ง จากนั้นกรองชาผ่านกระชอน ยกเสิร์ฟได้
ถ้าต้องการแบบเต็มสูตร เพิ่ม กระวานเทศ และอบเชย เล็กน้อย



ยี่ห้อ TATA TEA แบบพรีเมี่ยม 90 รูปี หาได้ตามร้านขายของชำทั่วประเทศ
ถ้าเกิดอาการขาดคาเฟอีนที่อินเดีย กินชาแทนได้เลย แก้ง่วงชะงัดนัก






Hotel Atulyaa Taj –- Agra
พิกัด 27.1689169 78.0499461



แถวโฮมสเตย์ไม่ค่อยมีร้านข้าว ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารในโรงแรม
ลองเข้าไปส่องเมนู บุฟเฟ่ต์อาหารเช้า ราคาเท่าข้าวถาดบ้านป้าเลยแฮะ

ถ้าเป็นอาลาคาร์ท ชุดอาหารเช้า
ขนมปัง ไข่ลวก ชากาแฟ น้ำผลไม้ คอร์นเฟลก ราคา 215 - 250 รูปี

Sweet and Sour Fish

เริ่มเบื่อเครื่องเทศและอยากกินเนื้อๆ บ้างแล้ว
สั่งแกงเปรี้ยวหวานปลา รสเหมือนผัดเปรี้ยวหวานที่คุ้นเคย
ใช้ความเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชู และซอสมะเขือเทศแทนสับปะรด
ได้ปลาทอดชิ้นหนา มาเยอะพอสมควร


Chicken Curry
แกงไก่ใส่เครื่องเทศเข้มข้น รสเค็มมันนวลๆ มีเนื้อไก่สับปั้นก้อนคลุกเครื่องเทศย้ำเข้าไปอีก



Omelet
ออมเล็ต ชีสมาก นมเนยมากก ด้วยสีและกลิ่นเหมือนผ่านการย่อยมาแล้วจากใครคนหนึ่ง
ทำใจกินลำบากเหมือนกัน แต่เฮียหมีกินได้ ช่วยๆ กันรับผิดชอบไป

แกง 2ถ้วย ข้าว 1โถ ออมเล็ต น้ำเปล่า และน้ำมะม่วง ราคา 1300 รูปี
น้ำมะม่วงอินเดียอร๊อยอร่อย แนะนำ





จากทัชมาฮาล กลับเดลี เตร็ดเตร่ส่งท้าย





Rumi Amritsari Naan --- Delhi
พิกัด 28.6422403 77.2105488
ร้านนี้อยู่ซอยเดียว Sita Ram แกงถั่ววันแรกที่ได้กิน
ขายอาหารแถบอินเดียเหนือ และอาหารจีน มังสวิรัติล้วน มีเก้าอี้ให้นั่งสบาย สะอาด บริการดี



Amritsari Naan --- 110 รูปี
ประกอบไปด้วย
(ไล่จากซ้ายสุด) น้ำจิ้มหอมแดงดอง คล้ายอาจาด รสหวานเปรี้ยว เผ็ดฉุนจากหอมแดงเล็กน้อย
Chola Masala แกงถั่วลูกไก่ น้ำแกงรสเค็มนำ กินคู่กับถั่วมันๆ ช่วยกลบรสเค็ม
Dal Makhani แกงถั่วเลนทิล ผสมถั่วแดง ใส่เนยและครีม เค็มมัน ละมุนกว่าแกงถั่ว
กลิ่นเครื่องเทศเข้มข้นทั้งสองแกง

Salt Lassi เค็มน้อยกว่าร้านรถเข็นนิดนึง
Paneer Naan แป้งนานสอดไส้ชีส Paneer กินเปล่าๆ อร่อยดี เค็มมันอ่อนๆ




Shahi Paneer --- 150 รูปี
เจ้าของร้านแนะนำจานนี้ รสไม่เผ็ด มีความข้นมันจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์บด กับโยเกิร์ต
ก้นถ้วยมีชีส paneer ประมาณ 4-5ก้อน หน้าตาคล้ายเต้าหู้
รสเหมือนมัสมั่นบ้านเรา หวานมันเค็ม อร่อย กินง่าย ไม่ฉุน



Palak Paneer --- 150 รูปี
แกงผักโขมใส่ชีส เค็มมัน เผ็ดร้อนนิดหน่อย รสผู้ใหญ่ขึ้นมานิดนึง ไม่มีหวาน



Garlic Naan --- 50 รูปี

นานกระเทียม เหนียวนุ่ม เค็มอ่อนๆ ถ้าเย็นจะออกเหนียวหนึบ กินร้อนๆ อร่อยกว่า




Singapuri Noodle ---70 รูปี
คล้ายหมี่ซั่วบ้านเรา รสเข้ม เค็มเปรี้ยวเผ็ด เคี้ยวผักกรอบๆ แกล้มชีส paneer มันๆ



Curd --- 30 รูปี
โยเกิร์ตโฮมเมดแท้ๆ ไม่มีหวานปน กลิ่นนมอย่างแรง ลาขาด - -‘





สำเร็จ!




ความเดิมตอนที่แล้วร้านไอติมปิดเพราะอะไรไม่รู้ วันนี้เราจึงวางแผนใหม่
กินไอติมก่อนทุกสิ่ง จากนั้นไปมัสยิด แล้วต่อด้วยเนื้อแพะตุ๋น



Kuremal Mohanlal Kulfiwale
พิกัด 28.647547 77.22691
ในซอยมีร้านไอติม 2ร้านอยู่ห่างกันแค่หนึ่งช่วงตึก ร้านนี้มีบันไดลงไปนั่งด้านใน
ราคาถูกกว่านิดหน่อย รสชาติกินง่ายเครื่องเทศไม่เยอะ




Kulfi Stuffed Mango ---200 รูปี

เนื้อมะม่วงเย็นเข็ดฟัน ตัวไอติมครีมมี่ เข้มข้นหวานมัน
แต่ไม่หวานแสบคอเหมือนขนมอินเดียทั่วไป  ใส่ถั่วพิสตาชิโอกรุบกริบ ให้พอได้เคี้ยว




Kuremal Mahavir Prasad Kulfi Wale
พิกัด 28.647387 77.226781
ลองชิมร้านใกล้กัน



Kulfi Stuffed Apple ---250
ลองมะม่วงจากร้านแรกแล้ว ขอลองแอปเปิ้ลบ้าง พ่อค้าทำหน้าผิดหวังเล็กน้อย เมื่อเราเลือกแอปเปิ้ล
หลังจากชิมแล้วจึงเข้าใจ เพราะมะม่วงอร่อยกว่าจริงๆ เนื้อแอปเปิ้ลแข็งจืดโดนความเย็นกลบหมด



Kulfi Stuffed Mango --- 250
เพื่อความยุติธรรม จึงลองมะม่วงร้านนี้ด้วย
เครื่องเยอะกว่า กลิ่นนมและเครื่องเทศเข้มข้นกว่า ก้ำกึ่งระหว่างความแหวะกับความอร่อย
คงเหมือนคนกินทุเรียนคำแรก ไม่ชอบก็รักเลย ถ้าอยากเข้าถึงอินเดียแนะนำร้านนี้ฮะ



Kulfi – 60 รูปี
ไอติมแบบธรรมดา ที่มาของกลิ่นเครืองเทศที่เราไม่คุ้นคือ น้ำเชื่อมกุหลาบ หญ้าฝรั่น กระวาน
ผสมรวมในนม   สูตรสมัยใหม่จะเพิ่ม เฮฟวี่ครีม กับ นมข้นหวาน ครีมมี่สะใจ



Karim’s
พิกัด 28.649326 77.233678 เดินผ่านซอกเล็กๆ เข้ามานิดนึง
ร้านอาหารเก่าแก่เปิดมา 100กว่าปี สืบทอดสูตรจากพ่อครัวในราชสำนักจักรพรรดิโมกุลรุ่นสุดท้าย
ก่อนที่อินเดียจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ


ครัวอยู่ฝั่งซ้าย ที่นั่งกินอยู่ทางขวา


เครื่องเคียง



Chicken biryani --- 210 รูปี
ข้าวหมกไก่โปะไข่ต้มสูตรชาวโมกุล ข้าวร่วน นุ่ม รสชาติดี เค็ม หอม หวานเผ็ดนิดหน่อย
หมกสะโพกไก่เนื้อเปื่อยนุ่มไว้ใต้ข้าว 1ชิ้น



Mutton Qormar / Mutton Kormar --- 170 รูปี
แกงแพะตุ๋น รสคล้ายมัสมั่น แต่ไม่หวาน เค็มมันนวลนัว เผ็ดเล็กน้อย
มีกลิ่นหอมเนื้อผสมกับเครื่องเทศเข้มข้น  เนื้อเปื่อยสะกิดออกจากกระดูกง่ายดาย



Kheer --- 31 รูปี
ขนมกีร์ ฝรั่งเรียก Rice Pudding เนื้อสัมผัสคล้ายโจ๊กข้นแห้ง
ทำมาจากข้าวเคี่ยวในน้ำนมจนข้น ใส่หญ้าฝรั่น ลูกกระวาน ถั่วพิสตาชิโอ
หอมนม รสหวาน มัน




เช็คบิลเสร็จ ได้ยี่หร่าหวานโรยน้ำตาลกรวดล้างปาก กลิ่นหอมเย็น หวานอ่อนๆ เหมือนลูกอมสมุนไพร
มีสรรพคุณช่วยย่อย ชุ่มคอ ลมหายใจหอมสดชื่น










ฟู้ดคอร์ท สถานี Rajiv Chowk
พิกัด 28.6328622 77.2195423


จุดต่อรถไฟใต้ดินสถานี Rajiv Chowk เห็นวัยรุ่น คนวัยทำงาน ได้เยอะจากที่นี่
อันที่จริงคนอินเดียตัวไม่เหม็นอย่างที่ร่ำลือกัน
พิสูจน์จากการถูกอัดเป็นปลากระป๋องในรถใต้ดินอินเดียมาแล้ว

ภายในสถานี มีร้านฟาสต์ฟู้ดให้เลือกเยอะ ทั้งเค้ก ไอศกรีม กาแฟ เบอเกอร์คิง


Chicken ’n cheese Momos Fried ---130 รูปี

ใครอยากเลี่ยงเครื่องเทศ แนะนำจานนี้
มีเฉพาะความมันจากชีส เนื้อไก่สับรสเค็มอ่อนๆ ห่อด้วยแป้งทอดกรอบ







ในที่สุด วันนี้ก็มาถึง..







Shanti Mangalick Hospital
พิกัด 27.157537, 78.056072
นั่งรอหมอในห้องตรวจ ไข้ขึ้น 39C
ระหว่างวัดไข้เริ่มมีคนเดินมามุงดูอาเจ๊ พร้อมอมยิ้มคิกคัก เหมือนยินดีต้อนรับ(หรือเปล่า?)
หมอดูใจดี ถามอาการละเอียด




เรียบร้อยฮะ ได้ยาฆ่าเชื้อ แก้คลื่นไส้ ลดน้ำมูก พาราลดไข้
เฮียหมีก็มีไข้อ่อนๆ เพราะทอนซิลอักเสบ





อาเจ๊พลาดตอนไหน..




คืนแรกที่อัครา อาเจ๊ก็ท้องเสียซะแล้ว 55 โชคดีที่วันนั้นกินข้าวมื้อเดียว เดาง่ายหน่อยว่าเกิดจากอะไร
ซึ่งเฮียหมีก็กินข้าวเหมือนกันแต่ท้องไม่เสีย สิ่งที่กินต่างกัน คือ

น้ำเปล่าจากก๊อกน้ำฟรีที่ Akbar’s tomb เฮียบอกเหม็นสนิม เจ๊เลยซัดไปคนเดียวเกือบลิตร




(ขอบคุณภาพจาก Phil Marion
https://www.flickr.com/photos/phil_marion/2559288624/in/album-72157601893655857/ )
ตามสถานที่ท่องเที่ยวอินเดียจะมีจุดดื่มน้ำฟรี คล้ายๆ แบบนี้บริการ
แต่ที่ Akbar’s tomb จะมืดดำกว่านิดหน่อย


โชคดีต่อมาคือ กินข้าวน้อย ย่อยหมดไว ไม่ต้องทรมานกับเครื่องเทศเผ็ดร้อนเข้าจมูก เมื่อยามอ๊วก

โชคดีข้อสาม เตรียมยาฆ่าเชื้อไปด้วย รีบกินยาห่มผ้านอน ตื่นมาดีขึ้นมาก แค่เพลียเล็กน้อย



เมื่อโชคดีหมดโควต้า โชคร้ายก็ทยอยเข้ามา...



..ยาฆ่าเชื้อหมด เอาซองยาตัวอย่างไปซื้อที่ร้านขายยา ดั๊นจ่ายยาหยุดถ่ายมาให้
( ประมาทเองที่ไม่เช็คข้อมูลยาจากเน็ทก่อน รีบกิน รีบขึ้นรถเดินทางต่อเลย )


โชคร้ายสอง ลืมซื้อผงเกลือแร่ ความอยากอาหารเป็นศูนย์ ร่างกายอ่อนแอ ของเสียไม่ถูกขับออก
แป๊บเดียวไข้พุ่งปรี๊ด นอนไม่หลับทั้งคืน



รุ่งขึ้นได้คุณลุงที่โฮมสเตย์ช่วยโทรเรียกตุ๊กๆ พาส่งโรงพยาบาล
หาหมอโรงพยาบาลรัฐในอินเดีย ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด ใช้เวลาไม่เกิน ช.ม. ก็เสร็จ
ค่ายาสองคนรวมกันราวๆ 600 รูปี



เล่าให้คนขับตุ๊กๆ ฟัง คนขับร้องโหว ขนาดเค้าเองยังไม่กินน้ำนอกบ้านเลย จริงดิ - -‘
พร้อมอธิบายว่า น้ำดื่มอินเดียมีหลายรูปแบบ น้ำยี่ห้อ Bisleri เป็นยี่ห้อมาตรฐานไว้ใจได้ ขวดใหญ่ 20 รูปี
มีหลายยี่ห้อที่ผลิตกันเอง ต้นทุนต่ำไม่ได้มาตรฐาน แต่ขาย 20รูปีเท่ากัน





เก็บกระเป๋ากลับบ้าน เย่!




อาการป่วยของอาเจ้ ได้ยารักษาตรงโรค พักผ่อนเต็มที่ รวมๆ 3วันก็หายดี
แต่เราไม่รู้ได้ ว่าเชื้ออะไรอยู่ตรงไหนบ้าง ยังไงปลอดภัยไว้ก่อนย่อมดีกว่า จะได้มีแรงเที่ยวเต็มที่

ผงถ่านสำหรับอาเจ๊เอาไม่อยู่ ยาฆ่าเชื้อกับเกลือแร่สิแน่จริง



ต่อด้วยขนมของฝากอีกเล็กน้อย
คล้ายโค้กบ้านเรา ซ่าๆ หวานน้อย กระป๋องนี้จิบเอง ลองชิมระหว่างรอเครื่อง



Kaju katli

จำได้ว่า Barfi ร้านลุงที่ตลาดอร่อย หยิบกล่องนี้ติดมือมา
แต่เมื่อเคี่ยวนม ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์บดลงไป เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Kaju katli
หวานพอทน



Laddu

Laddu ถั่วบดก้อนกลม หวานเอาเรื่อง ก้อนเดียวจอด ต้องกินกับน้ำชาหรือกาแฟดำ




BHUJIA

คล้ายหมี่กรอบ ใส่ขาไก่คลุกเครื่องเทศ รสเค็มนำ เผ็ดเล็กน้อย




KAJU MIXTURE

มีถั่วหลายชนิด รสเค็มนัว ปนเปรี้ยวเล็กน้อย เผ็ดร้อนนิดเดียว




NAVRATTAN

ซองนี้ผสมระหว่างถั่วและหมี่กรอบ รสเปรี้ยวนำ เค็มเผ็ดรองลงมา




KHATTA MEETHA

เปรี้ยวหวาน กินง่าย เหมาะเป็นของฝาก กลับมาบ้านซองนี้หมดก่อนเพื่อน






ปีหน้าเฮียหมีติดใจ เตรียมไปแก้มืออินเดียอีกรอบ
แค่นึกว่าต้องกลับไป อาเจ๊ยังขยาดอยู่ไม่น้อย

แต่ทำไงได้ อยู่#ทีมอินเดียไปซะแล้ว