เที่ยว - หมีเป็ดพาชม พระราชวังเดิม แห่งกรุงธนบุรี


ผมเดินผ่านหลังวัดอรุณ เข้าสู่เขตของกองทัพเรือ
“จะไปไหนครับ” ทหารหนุ่ม หน้าตาขึงขังถาม เมื่อผมเดินเข้าไปใกล้
“เอ่ออออ จะไปพระราชวังเดิมครับ” ผมตอบ  ใจนึงก็กลัวโดนไล่กลับ
“ติดต่อแลกบัตรที่ประชาสัมพันธ์นะครับ” เขาตอบ

ผมจัดแจงแลกบัตร แล้วติดที่ปกเสื้อ อยากให้พี่ๆ ทหารเห็นว่า ผมมาอย่างถูกต้องนะ



“จะไปไหนครับ” ทหารหนุ่มอีกคนทักผม ขณะที่กำลังจะเข้าเขตพระราชวังเดิม
“จะเข้าชมพระราชวังเดิมครับ” ผมตอบ
“เข้าทางนี้ไม่ได้มั้งครับ ผมไม่แน่ใจ รอจ่าซักครู่” ทหารคนนี้ท่าทางใจดี แต่ก็ทำหน้าที่แข็งขัน

เหมือนนัดคิวกันไว้ ไม่ถึง 10 วินาที จ่าก็ขี่มอร์เตอร์ไซค์มาจากไหนไม่รู้ เลี้ยวเข้าไปจอดในที่จอรถ แล้วเดิมออกมาคุยกับเรา
“อ๋อ นี่ไง เค้ามีบัตรแล้ว น่าจะเข้าได้แหละ” จ่าให้ความเห็น

ถ้าคุณมาเที่ยว อาจได้รับการตรวจตรา หรือตอนรับด้วยพี่ทหารหน้าดุไปบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา ของการมาเที่ยวในเขตทหารจ้า






พระราชวังเดิม แห่งกรุงธนบุรี ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสิน ยังเป็นที่ประทับของพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ใครคือพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หลายคนสงสัย
บางคนอาจคิดว่า เป็นอีกชื่อนึงของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 4)
บางคนอาจคิดว่า เป็นอีกชื่อหนึ่งของพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 7)
เค้าไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ครับ เพราะพระปิ่นเกล้า คือ ร. 2 ไงเล่า ผมมั่นใจ

อันที่จริง ในสมัยรัชกาลที่ 4 เรามีกษัตริย์สองพระองค์ คือพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ

ส่วน ร. 2 คือพระพุทธเลิศนภาลัยนะฮะ กลายเป็นผมเองที่มั่วที่สุด... เอ่อ... เรามาดูข้างในดีกว่า ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง





ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช



ศาลหลังใหม่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2424 - 2443 แทนหลังเก่าที่สภาพทรุดโทรม ภายในประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช





ศาลศีรษะปลาวาฬ



ศาลหลังเล็กจิ๋วที่สร้างขึ้นในปี 2542 บนฐานของศาลหลังเดิม จัดแสดงกระดูกปลาวาฬที่ขุดพบโดยบังเอิญใต้ฐานของศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช





อาคารเก๋งคู่ หลังเล็กและหลังใหญ่


ลวดลายบนหน้าจั่วเก๋งหลังใหญ่


 อาคารหลังเล็กถูกสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2367 - 2394 มันได้รับการปรับปรุง และมีการสร้างอาคารหลังใหญ่ขึ้นมาคู่กัน  ภายในจัดแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอาวุธชนิดต่างๆ





ท้องพระโรง




สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2310 พร้อมกับการสร้างพระราชวังกรุงธนบุรี ประกอบไปด้วยอาคารสองหลังเชื่อมต่อกัน ใช้เป็นที่ว่าราชการ





ตำหนักสมเด็กพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว




อาคารแบบตะวันตกหลังแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2367 - 2394 จัดแสดงพระราชกรณีย์กิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นไม้บนอาคารถูกขัดซะเงางาม แต่ลื่นมาก ระวังนะครับ





พระบรมราชานุสาวรีย์ และป้อมวิไชยประสิทธิ์



ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ ซึ่งถัดไปอีกหน่อยคือป้อมวิไชยประสิทธิ์




ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช เดิมชื่อว่าวิไชยเยนทร์ น่าจะตั้งตามผู้ควบคุมการก่อสร้าง คือ เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ (หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน)  เมื่อพระเจ้าตากสินทรงสร้างพระราชวังในบริเวณนี้ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์





เรือนเขียว





เดิมเป็นโรงพยาบาลของโรงเรียนนายเรือ สร้างขึ้นราวปี 2443 - 2449 ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว






ในช่วงสมัยของพระเจ้าตากสินนั้น อณาเขตของพระราชวังนับรวมไปถึงวัดอรุณราชวราราม และวัดโมลีโลกยาราม แต่ในสมัยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ทรงแยกวัดทั้งสองออกไป คงเหลือพื้นที่เท่าที่เห็นในปัจจุบัน










พิกัด และเวลาเปิดปิด


พิกัด   13.743013 100.48962

เวลาเปิดปิด   วันนี้ - 28 ธันวาคม 2560  เวลา 8.30 - 16.30
(ปกติ พระราชวังแห่งนี้เปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องติดต่อล่วงหน้าเท่านั้น)

ข้อมูลเพิ่มเติม   02 472-7291 (ในเวลาราชการ)


ถึงพระราชวังแห่งนี้จะไม่หรูหราใหญ่โต แต่มีเสน่ห์จากความเรียบง่าย ต้นไม้สวยงาม รวมทั้งสถาปัตยกรรมแบบจีนที่ไม่ค่อยเห็นจากพระราชวังแห่งอื่น  ดังนั้นนี่เป็นโอกาสดีที่เราจะได้เข้าชม และเรียนรู้เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของเราอีกพระองค์ครับ